เมืองโบราณศรีเทพ

         “เมืองโบราณศรีเทพ” ในฐานะมรดกโลกทางวัฒนธรรม ไม่ได้มีแค่ “เขาคลังนอก” อันเป็นภาพจำของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ แต่ยังครอบคลุมพื้นที่ “โบราณสถานในสมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้อง” ประกอบด้วย ปรางค์ศรีเทพ ปรางค์สองพี่น้อง ปรางค์ฤาษี เขาคลังใน และเขาถมอรัตน์

          คำว่า "ถมอ" มาจากคำว่า "ทะมอ" ในภาษามอญโบราณ (ญัฮกุร) แปลว่า หิน กองหินขนาดใหญ่ ส่วนคำว่า รัตน์ อาจมาจาก "รัตนะ" แปลว่าแก้ว จากการเสด็จเมืองวิเชียรบุรีของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ แสดงให้เห็น ‘ร่องรอย’ ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองโบราณศรีเทพกับวิเชียรบุรีที่มีตำแหน่งเจ้าเมืองเดิมคือ “พระศรีถมอรัตน์” อันเป็นชื่อภูเขาศักดิ์สิทธิ์และสัญลักษณ์สำคัญของเมือง 

          ทั้งนี้ยังปรากฏนามในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) พระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมืองสมัยสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓ โดยภายหลังโปรดให้ยกขึ้นเป็นเมืองตรี และเปลี่ยนนามเมืองเป็นวิเชียรบุรี (ท่าโรง)

          ความน่าสนใจของ “เขาถมอรัตน์” ที่อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๑๕ กิโลเมตร คือ มีฐานะเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ประจำเมือง และมีการแนวแกนทิศที่สัมพันธ์กับศาสนสถานของเมืองศรีเทพ โดยมีลักษณะเป็นภูเขาขนาดใหญ่กลางที่ราบ ภายในถ้ำมีชะง่อนหินธรรมชาติเป็นแกนหินขนาดใหญ่ สามารถเดินรอบได้ อีกทั้งยังถูกดัดแปลงให้เป็นศาสนสถานของพุทธศาสนา มีภาพสลักนูนต่ำสถูปเจดีย์ ธรรมจักร พระพุทธรูป และพระโพธิสัตว์ สร้างขึ้นตามคติพุทธศาสนานิกายมหายานในรูปแบบศิลปะทวารวดี กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔

          ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ได้กล่าวถึงภาพสลักที่เขาถมอรัตน์ว่าเป็นภาพสลักลงบนแกนหินที่แต่เดิมอาจมีรักหรือปูนปั้นประกอบ ภาพเหล่านี้สะท้อนให้เห็นคติในศาสนาพุทธมหายาน ภาพสลักเหล่านี้คล้ายคลึงกับศิลปะทวารวดี เขตอำเภอประโคนชัยและอำเภอลำปลายมาศของจังหวัดบุรีรัมย์

          ภายหลังจากการลักลอบสกัดภาพจำหลักบริเวณผนังถ้ำเขาถมอรัตน์ และได้ติดตามโบราณวัตถุกลับคืนมานั้น ส่วนหนึ่งเก็บรักษาไว้ที่คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปัจจุบันได้นำไปจัดแสดงในนิทรรศการพิเศษ “เมืองโบราณศรีเทพ สู่มรดกโลก” ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร คือ

          ชิ้นส่วนพระหัตถ์ กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ เดิมจำหลักที่ผนังถ้ำเขาถมอรัตน์ ตำบลโคกสะอาด อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ นายจิม ทอมสัน นำมามอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๐๕ 

          มีลักษณะนิ้วพระหัตถ์แบบวิตรรกมุทรา (ปางแสดงธรรม) คือ การใช้ปลายพระอังคุฐแตะปลายพระดัชนีหรือพระมัชฌิมา แล้วจีบนิ้วพระหัตถ์เป็นวง ส่วนนิ้วพระหัตถ์ที่เหลือชี้ขึ้น อันเป็นแรงบันดาลใจจากศิลปะอินเดียใต้ ทว่าการแสดงวิตรรกมุทราในศิลปะทวารวดีมีอีกรูปแบบหนึ่ง คือ การหักงอนิ้วพระหัตถ์ ทั้งพระดัชนี พระมัชฌิมา พระอนามิกา และพระกนิษฐา ลงแตะฝ่าพระหัตถ์ มีแค่พระอังคุฐที่ชี้ขึ้น ซึ่งมาจากการปรับเปลี่ยนตามเทคนิคช่าง

 

 

อ้างอิง 

กรมศิลปากร. “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ”. กรุงเทพฯ : สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี กรมศิลปากร, ๒๕๕๐

เชษฐ์ ติงสัญชลี. “การวิเคราะห์การแสดงวิตรรกมุทราสองพระหัตถ์ของพระพุทธรูปในศิลปะทวารวดี”. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๕๕๔

สถาพร เที่ยงธรรม. “ศรีเทพ : เมืองศูนย์กลางความเจริญลุ่มน้ำป่าสัก”. เพชรบูรณ์ : อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ กรมศิลปากร, ๒๕๕๔.

“ทำลายภาพสลักในถ้ำ เขาถมอรัตน์ เมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยสุจิตต์ วงษ์เทศ” เข้าถึงเมื่อ ๒๐ กันยายน ๒๕๖๖ เข้าถึงได้จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_189295

 

(จำนวนผู้เข้าชม 974 ครั้ง)

Messenger