ความเชื่อของ “พรหมลิขิต”
ความเชื่อของ “พรหมลิขิต”
พรหมลิขิต แปลโดยรูปศัพท์ได้ว่า ข้อความหรือลวดลายที่พระพรหมเขียนไว้ ถือเป็นคติความเชื่อที่ว่า ชะตาชีวิตของมนุษย์ได้ถูกกำหนดไว้โดยพระพรหม เทพสำคัญในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู อาจสืบเนื่องมาจาก การที่พระพรหมอยู่ในฐานะพระผู้สร้าง จึงเกี่ยวพันกับมนุษย์ตั้งแต่แรกเกิด คติเรื่องพรหมลิขิตปรากฏมาตั้งแต่อินเดียและคงเผยแพร่เข้ามาในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
คติเรื่องพรหมลิขิตนี้ ชาวมอญรุ่นเก่าเชื่อกันว่า เมื่อทารกใกล้คลอดจะต้องนำผ้าขาวมาปูตั้งแต่ประตูหัวกระไดบ้าน จนมาถึงสถานที่อันจะทำคลอด และจัดหาเครื่องประกอบพิธีประกอบด้วย มะพร้าวหนึ่งผล กล้วยหนึ่งหวี เครื่องหอมจำพวกแป้งและน้ำมันต่าง ๆ ดินสอและสมุดเตรียมไว้ข้างที่นอนทารกให้พร้อม เมื่อทารกกำเนิดขึ้นพระพรหมจะดำเนินบนผ้าขาว มาทำการลิขิตขีดเขียนที่หน้าผากของทารก
ส่วนคติไทยโบราณก็ใกล้เคียงกับทางมอญ กล่าวคือ เมื่อเด็กเกิดมาได้ ๖ วัน พระพรหมจะเสด็จลงมาเขียนเส้นไว้ที่หน้าผาก เพื่อกำหนดหมายว่าเด็กผู้นั้นจะมีความเป็นอยู่วิถีชีวิตอย่างไรตราบจนวันตาย อนึ่ง สิ่งที่พระพรหมกำหนดไว้กล่าวกันว่ามีอยู่ ๕ ประเภท คือ
๑. อายุขัย คือ บุคคลนั้นจะมีอายุยืนยาวหรือสั้นเพียงใด
๒. ภาวะจิตใจหรืออารมณ์
๓. สติปัญญา ความเฉลียวฉลาด
๔. ฐานะความเป็นอยู่
๕. ความรู้สึกสำนึกในบาปบุญคุณโทษ
เรื่อง พรหมลิขิต มีพื้นฐานจากทางพราหมณ์-ฮินดูอย่างชัดเจน แต่ได้กลมกลืนอยู่ในวัฒนธรรมความเชื่อในสังคมไทยเสมอมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งความเชื่อเรื่องพระพรหมมีอำนาจบันดาลโชคชะตาของมนุษย์ ยังสะท้อนออกมาในตำราพรหมชาติ ที่เกี่ยวข้องไปกับเรื่องราวทางโหราศาสตร์ ว่าด้วยอิทธิพลของวันเดือนปีเกิด อาจรวมถึงลายมือ ลายเท้า และลักษณะสัดส่วนของร่างกายอีกด้วย
สำหรับภาพโบราณวัตถุที่นำมาประกอบเรื่องราวนี้ เป็นพระพรหมองค์เดิมที่เคยประดิษฐาน ณ สี่แยกราชประสงค์ ที่สร้างขึ้นพร้อม ๆ กับการสร้างโรงแรม เพื่อขอพรให้เกิดความราบรื่น บัลดาลสิ่งร้ายให้กลายเป็นดี
ตามคำแนะนำของ พล.ร.ต. หลวงสุวิชานแพทย์ โดยการก่อสร้างศาลพระพรหม มีนายเจือระวี ชมเสรี และ ม.ล.ปุ่ม มาลากุล แห่งกรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบศาล ส่วนผู้ออกแบบและปั้นพระพรหมคือ นายจิตร พิมพ์โกวิท ช่างกองหัตถศิลป์ เป็นการปั้นตามแบบแผนกรมศิลปากร โดยปั้นด้วยปูนปลาสเตอร์ปิดทอง ซึ่งการสร้างพระพรหมที่โรงแรมเอราวัณจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างศาลพระพรหมไว้บูชาตามบ้านเรือน หรืออาคารใหญ่ ๆ อย่างแพร่หลายในสังคมไทย ก่อนที่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๙ พระพรหมจะถูกทุบทำลายโดยชายผู้หนึ่ง เป็นเหตุให้มีการซ่อมแซมโดยกรมศิลปากร แล้วนำกลับไปประดิษฐาน ณ ที่เดิม ขณะเดียวกันได้ถอดพิมพ์องค์เดิมเพื่อหล่อองค์ใหม่เป็นโลหะ ซึ่งก็คือองค์ในภาพนั่นเอง ปัจจุบันเก็บรักษา ณ คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
อ้างอิง
- กรมศิลปากร. นามานุกรมขนบประเพณีไทย หมวดประเพณีราษฎร์ เล่ม ๓. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๔๙.
- กรมศิลปากร. พระมหาพรหมองค์เดิม ที่บูรณปฏิสังขรณ์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๕๑.
- ธนิต อยู่โพธิ์ และคนอื่น ๆ. พรหมสี่หน้า. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, ๒๕๔๙.
- เสมียนอารีย์. “กำเนิดศาลพระพรหม” ณ โรงแรมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์.” ใน ศิลปวัฒนธรรม [ออนไลน์]. เข้าถึงได้http://xn--www-dkl8ayt.silpa-mag.com/history/article_89966
- ไทยรัฐ. “ครบรอบ 61 ปี วันตั้งศาลท้าวมหาพรหม ชาวไทย-ต่างชาติแห่สักการะแน่น.” ใน ไทยรัฐออนไลน์. เข้าถึงได้http://xn--www-dkl8ayt.thairath.co.th/news/crime/1121557
(จำนวนผู้เข้าชม 2070 ครั้ง)