กลองแอว์ กลองอืด กลองตึ่งโนง
กลองแอว์ : กลองอืด : กลองตึ่งโนง
กลองแอว์ เป็นกลองขึ้นหนังหน้าเดียว ตัวกลองทำจากไม้รูปทรงกระบอก เอวคอดแกะสลักรอบเป็นเล็บช้าง คร่าวหูหิ่งทำจากหนังเป็นเส้นสายโยงเร่งเสียงถักขึงกับหน้ากลอง ตอนท้ายมีรูปทรงเรียวยาวกลึงเป็นปล้อง ปลายบานคล้ายดอกลำโพง
ภายในคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มีกลองแอว์ ๒ รายการ คือ ชิ้นที่ ๑ กลองแอว์ขนาดเล็กมีความสูงประมาณ ๑๔๕ เซนติเมตร ฝีมือของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าเมืองเชียงใหม่ กระทรวงมหาดไทยมอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
ส่วนชิ้นที่ ๒ คือกลองแอว์พร้อมฐานล้อเกวียน มีความยาวประมาณ ๓๓๖ เซนติเมตร ตามประวัติระบุว่า พระยาเพ็ชรพิสัยศรีสวัสดิ์ส่งมาจากจังหวัดแพร่
คำว่า "กลองแอว์" มาจาก กลองมีสะเอว มีรูปร่างคล้ายคลึงกับกลองยาว แต่ขนาดใหญ่และยาวกว่ามาก สามารถพบได้ตามวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ใช้ตีบอกสัญญาณ เช่น ตีกลองเพล เรียกชุมนุมสงฆ์ทำพิธีสังฆกรรม และนัดหมายชาวบ้านมาร่วมงานกุศลต่างๆ
นิยมนำมาตีประชันประกวดเสียงระหว่างช่วงเดือน ๓-๔ ของภาคเหนือ ซึ่งตรงกับเดือนอ้าย-เดือนยี่ของภาคกลาง มักใช้บรรเลงร่วมกับตะโล้ดโป๊ด และเครื่องดนตรีอื่นๆ ประกอบการละเล่นพื้นเมือง เช่น ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ทั้งนี้ยังใช้ในกระบวนแห่เคลื่อนที่ในงานพิธีปอยหลวง งานแห่ครัวทาน และงานปอยลูกแก้ว (บวชเณร) ซึ่งเป็นงานประเพณีสำคัญด้วย
กลองแอว์ยังมีชื่อแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น โดยเรียกตามลักษณะของเสียงประโคม อาทิ ‘กลองตึ่งโนง’ มาจากการประโคมร่วมกับฆ้องใหญ่สลับกับฆ้องหุ่ย และตะโล้ดโป๊ด บรรเลงผสมวงกับเครื่องเป่า ทำให้มีเสียงกลองเป็นเสียง “ตึ่ง” และเสียงฆ้องเป็นเสียง "นง หรือ "โนง" เช่นเดียวกับที่มาของการเรียกขานชื่อกลองในจังหวัดต่างๆ
กล่าวคือ ‘กลองเปิ้งมง’ นิยมเรียกในเขตจังหวัดลำพูน ‘กลองตบเส้ง’ นิยมเรียกกันในจังหวัดลำปาง และ ‘กลองอืด’ นิยมเรียกกันในจังหวัดแพร่และน่าน เพราะมีเสียงกังวานยาวนานคล้ายเสียงอืดหรือเสียงลูกปลาย
อ้างอิง
ธนิต อยู่โพธิ์. เครื่องดนตรีไทย พร้อมด้วยตำนานการผสมวงมโหรี ปี่พาทย์ และเครื่องสาย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร ๒๕๒๓
(จำนวนผู้เข้าชม 972 ครั้ง)