นางเมขลาล่อแก้ว
กรมอุตินิยมวิทยาได้ประกาศ การเริ่มต้นฤดูฝนของประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๖๖ ในวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ พบว่า จะมีฝนตกชุกหนาแน่นและต่อเนื่องครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ประกอบกับลมที่พัดปกคลุมประเทศไทยที่ระดับผิวพื้นถึงความสูงประมาณ ๓.๕ กิโลเมตร ได้เปลี่ยนทิศเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งจะพัดนำความชื้นจากทะเลอันดามันเข้ามาปกคลุมบริเวณประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และลมชั้นบนตั้งแต่ระดับความสูง 5 กิโลเมตรขึ้นไป ได้เปลี่ยนทิศเป็นลมฝ่ายตะวันออก ซึ่งถือว่าเป็นการเข้าสู่ฤดูฝนของ ประเทศไทยในปีนี้
.
ในฤดูฝนก็มีปรากฏการณ์ลมกรรโชกแรง ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และฟ้าผ่า ซึ่งคนไทยในอดีตเชื่อกันว่าเหตุที่ฟ้าแลบนั้นเป็นเพราะนางมณีเมขลาหรือนางเมขลา ผู้ดูแลรักษามหาสมุทร ถือแก้ววิเศษแกว่งไปแกว่งมาอยู่บนก้อนเมฆ ส่วนเสียงฟ้าร้องฟ้าแลบเป็นเสียงของขวานเพชรที่ยักษ์รามสูรขว้างออกไปหวังประหารนางเมขลา เพราะรามสูรอยากได้แก้วในมือนางมณีเมขลา
.
หากสืบความพบเรื่องราวเมขลาล่อแก้ว ปรากฏในหนังสือ “เฉลิมไตรภพ” เป็นวรรณกรรมโบราณที่มีลักษณะเป็นตำนานหรือนิทาอธิบายเหตุ มีที่มาจากตํานานในคัมภีร์ศาสนาพราหมณ์ พุทธศาสนา และวรรณกรรมไทย และมีแนวคิดเกี่ยวข้องกับเรื่องเทพเจ้า โลก-จักรวาล และชีวิต ที่ผู้แต่งได้ร้อยเรียงเรื่องไตรภพหรือสามโลก ตำนานการสร้างโลก เทวกำเนิด และปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ
.
เฉลิม ไตรภพ กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนางเมขลาแอบกินน้ำอมฤตและขโมยดวงแก้ว ไปจนถึงยักษ์ (รามสูร) ไล่ชิงดวงแก้วนางเมขลาจนเกิดปรากฏการณ์ฝนฟูานั้น เฉพาะเหตุการณ์ ยักษ์ (รามสูร) ไล่ชิงดวงแก้วนางเมขลาจนเกิดปรากฏการณ์ฝนฟ้า เป็นเหตุการณ์ที่ปรากฏให้เห็นในรามายณะฉบับอินเดียตอนใต้ซึ่งเข้าใจว่ามีอิทธิพลต่อวรรณกรรมไทยโบราณ ดังปรากฏหลักฐานให้ เห็น เช่น สมุดภาพไตรภูมิฉบับอยุธยา หรือในรามเกียรติ์สํานวนพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่กล่าวถึงรามสูร ปะโรต และนางเมขลาทําให้เกิด ปรากฏการณ์ฝนฟ้า แม้เหตุการณ์ยักษ์ (รามสูร) ไล่ชิงดวง แก้วนางเมขลาจนเกิดปรากฏการณ์ฝนฟ้า ซึ่งโครงเรื่องนี้คงเป็นแนวคิดร่วมกันที่พบตั้งแต่ “เฉลิมไตรภพ” กลุ่มสุริยาศศิธรในสมัยอยุธยา มาจนถึงกลุ่มพระยาราชภักดี (ช้าง) สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งผู้ประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้ประพันธ์ประเภทกลอนสวด ประกอบด้วย โคลงสี่สุภาพ ร่าย และกาพย์ ไว้ให้อ่านได้อย่างเพลิดเพลิน
.
ที่มาข้อมูลและภาพ
๑. หนังใหญ่ เมขลาล่อแก้ว อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๕ เก็บรักษาที่ห้องหนัง คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร
๒. เว็บไซด์ กรมอุตุนิยมวิทยา https://www.tmd.go.th/
๓. เปรมวัฒนา สุวรรณมาศ, “เฉลิมไตรภพ”: การศึกษาแนวคิดและกลวิธีสร้างสรรค์, วิทยานิพนธ์หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย ภาควิชาภาษาไทยและภาษาวัฒนธรรมตะวันออก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา ๒๕๖๐.
๔. ภาพเมขลาในสมุดไทยดำ จาก https://th.wikipedia.org/
.
เผยแพร่โดย นางสาวศรินยา ปาทา ภัณฑารักษ์ชำนาญการ กลุ่มวิจัย สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
(จำนวนผู้เข้าชม 23873 ครั้ง)