11/11

       วนกลับมาอีกครั้งกับวันที่ 11 เดือน 11 ...หนึ่งวันในรอบปีที่สามารถเรียงหมายเลขเดียวกันได้มากที่สุด ส่งผลให้วันดังกล่าวถูกกำหนดเป็นวันพิเศษต่าง ๆ ไม่ว่าจะ Singles Day หรือวันคนโสด (光棍节) ของชาวจีนสมัยใหม่ (ตั้งแต่ปี 2536) ด้วยถือเลข 1 เป็นเหมือนท่อนไม้ (光棍) เรียงกัน แต่ก็มีคู่รักชาวจีนไม่น้อยที่แต่งงานกันในวันนี้ มีนัยว่าเป็นการแก้เคล็ด หรือจะเป็น Pepero Day ของชาวเกาหลีใต้ (ตั้งแต่ปี 2537) และ Pocky Day ของชาวญี่ปุ่น (ตั้งแต่ปี 2542 ตรงกับรัชศกเฮเซปีที่ 11) โดยอิงกับยี่ห้อสินค้าขึ้นชื่อของแต่ละชาติที่มีลักษณะเป็นแท่ง (หากในไทยคงใช้เป็น Peeb Day จากขนมปี๊บขาไก่) 

       อย่างไรก็ดี ในโอกาสที่ประทศไทยได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APAC 2022 โดยมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน วันนี้ เพจคลังกลางฯ จึงขอเสนอเกร็ดจาก “ชะลอม” สัญลักษณ์ประจำการประชุม ที่มีความสัมพันธ์กับหมายเลข 11 อย่างน่าสนใจ

       “ชะลอม” ตามความหมายในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ระบุว่าเป็นเครื่องจักสานชนิดหนึ่ง รูปทรงกระบอก สานด้วยตอกเป็นต้น ตาห่าง ๆ สำหรับใส่สิ่งของ เช่นเดียวกับที่ระบุในพจนานุกรมหัตถกรรม เครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน ของอาจารย์วิบูลย์ ลี้สุวรรณ ว่าเป็นภาชนะสำหรับใส่ของ ปากชะลอมปล่อยตอกไว้เพื่อมัดรวมเข้าด้วยกันสำหรับหิ้ว ซึ่งคนทั่วไปมักนำไปใส่ของฝาก จนช่วงหนึ่งกลายเป็นภาพจำของ “พจมาน” หญิงสาวถักเปีย ผู้ถือชะลอมเดินทางมายังบ้านทรายทอง

       ชะลอม... จึงเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อเรื่องการมาถึงของแขกผู้มาเยือน สอดรับกับแนวคิดหลักการประชุมที่ว่าด้วยเรื่อง “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” อนึ่ง ผู้ออกแบบสัญลักษณ์อย่างชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง ได้ตีความว่าชะลอม หมายถึงการค้าที่เปิดกว้าง (Open) สื่อถึงการเดินทาง (Connect) และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Balance) โดยแสดงออกผ่าน “เส้นตอก 11 เส้น” แบ่งออกเป็น เส้นสีน้ำเงิน 4 เส้น (การเปิดกว้างของ 21 เขตเศรษฐกิจ) เส้นสีชมพู 4 เส้น (การสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยง) และเส้นสีเขียว 3 เส้น (ความสมดุล)

       นอกจากสัญลักษณ์รูปชะลอมที่ปรากฏอยู่ตามสื่อ อีกหนึ่งความพิเศษของการประชุมนี้คือ “น้องนวล” Presenter แมวไทยพันธ์ทางประจำกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ อย่างไรก็ดี แม้ไม่ได้ระบุเหตุแห่งการคัดเลือกน้องนวลแน่ชัด แต่แมวก็ถือเป็นสัตว์สัญลักษณ์ที่แสดงมิตรภาพ ความรัก ความปรารถนาดีต่อกัน ทั้งนี้ ในวัฒนธรรมไทยยังมีการแบ่งลักษณะแมวดี หรือแมวสำคัญ ดังปรากฏในหนังสือสมุดไทยขาวของนายแช เศรษฐบุตร เรื่อง ตำราแมวคำโคลง โดยปัจจุบันตำราเล่มนี้เก็บรักษาอยู่ที่อาคารคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

 

 

          เผยแพร่โดย ศรัญ กลิ่นสุคนธ์ ภัณฑารักษ์ / ภาพโดย กิตติยา เชื้อทอง นายช่างภาพปฏิบัติงาน / เทคนิคภาพโดย อริย์ธัช นกงาม ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร

 

(จำนวนผู้เข้าชม 352 ครั้ง)

Messenger