๑๓๕ ปีแห่งพระราชไมตรีทางการค้า สนธิสัญญา กับความสัมพันธ์ระหว่างกรุงสยาม แลกรุงญี่ปุ่น
เวียนบรรจบครบรอบความสัมพันธ์ทางพระราชไมตรี ๑๓๕ ปี ระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นสมัยเมจิ กับรัฐบาลไทยรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ร่วมลงนามในหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี ทางการค้าแลการเดินเรือเมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ.๒๔๓๐ ทว่าโดยแท้จริง ชาวญี่ปุ่นรู้จักเราในนาม “ชิยามุโระ” (สยาม?) หรือ “ชามุโรโกกุ” (อยุธยา) มาแล้วกว่า ๖๐๐ ปี แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีของสองอาณาจักรที่มีต่อกันตั้งแต่ระดับราชสำนักถึงการพาณิชย์ในระดับรัฐบาล เพจคลังกลางฯ จึงขอใช้โอกาสนี้ เสนอเนื้อหาว่าด้วยเรื่อง ...๑๓๕ ปีแห่งพระราชไมตรีทางการค้า สนธิสัญญา กับความสัมพันธ์ระหว่างกรุงสยาม แลกรุงญี่ปุ่น
โดยการค้าระหว่างอาณาจักรช่วงยุคแรก เกิดขึ้นระหว่างกรุงศรีอยุธยากับ “ริวกิว” อาณาจักรอิสระที่ตั้งอยู่ในเกาะโอกินาวะ มีสินค้าที่นิยมใช้แลกเปลี่ยนค้าขาย เช่น สุรา ผ้าฝ้าย ผ้าไหม พริกไทย ไม้ฝาง ตลอดจนสินค้ากลุ่มเครื่องปั้นดินเผา ดังมีหลักฐานการขุดค้นบริเวณปราสาทซูริ และปราสาทนาคิจิน ไม่ว่าจะเป็นตลับเคลือบขาวเขียนลายสีน้ำตาล และเศษสังคโลกเคลือบเขียวจากจังหวัดสุโขทัย แต่ส่วนใหญ่เป็นไหสี่หูจากเตาแม่น้ำน้อย จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งแต่ละที่ก็มีวิธีการใช้งานแตกต่างกัน อย่างภาชนะที่พบบริเวณปราสาทซูริน่าจะนำมาใช้ประกอบพิธีกรรมด้วยพบอยู่ในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงใช้บรรจุกระดูกเจ้าเมืองในอดีต ส่วนภาชนะที่พบบริเวณใจกลางปราสาทนาคิจิน สันนิษฐานว่าภาชนะเหล่านี้น่าจะถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนั้น ยังเคยขุดพบภาชนะที่มีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๒ เช่น ไหประทับลายดอกไม้ ซึ่งเทคนิคการกดประทับแสดงให้เห็นว่าโบราณวัตถุชิ้นนี้ผลิตจากเตาบ้านบางปูน จังหวัดสุพรรณบุรี หรือหม้อซุงโกะรุกุ (สวรรคโลก?) กำหนดอายุอยู่ในสมัยอยุธยาตอนกลาง สอดรับกับที่ช่วงเวลาหนึ่งของประเทศญี่ปุ่นมีการสร้างเครื่องปั้นดินเผาเลียนแบบศิลปะอยุธยา เรียกว่า ภาชนะกลุ่มเตาซะซุมะ
จนเมื่อมีการทำสนธิสัญญาระหว่างกันเมื่อปี ๒๔๓๐ แล้ว ได้เกิดความร่วมมือกันในหลายด้านโดยลำดับ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนให้เกิดกรมช่างไหมในกระทรวงเกษตรและพาณิชย์ สมัยรัชกาลที่ ๕ การก่อตั้งโรงเรียนประจำสำหรับผู้หญิง ภายหลังสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงแวะสังเกตการณ์กิจการด้านการศึกษา ณ ประเทศญี่ปุ่น ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้จ้างครูมาอยู่ประจำที่โรงเรียนนั้นถึง ๓ คน นอกจากนี้ ยังมีนายช่างญี่ปุ่น “มิกิ ซาคาเอะ” ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงรัก ได้เข้ามาปฏิบัติราชการในสำนักพระราชวัง รับหน้าที่ซ่อมแซมงานศิลปกรรม ตลอดจนเครื่องราชูปโภคต่าง ๆ ในพระบรมมหาราชวัง กระทั่งภายหลังได้บรรจุเป็นครูมหาวิทยาลัยศิลปากร รวมถึงในด้านศาสนา เมื่อประเทศไทยได้รับมอบพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศอินเดีย รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประสานขอพระราชทานพระบรมสาริกธาตุนั้น ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานที่วัดนิทไทจิ เมืองนาโงยา แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีของสองอาณาจักรที่เจริญวัฒนาสืบมา อย่างไรก็ดี แม้ญี่ปุ่นจะกำลังเข้าสู่ปีที่ ๔ ของยุคเรวะและประเทศไทยอยู่ในแผ่นดินรัชกาลที่ ๑๐ ก็ตาม ความสัมพันธ์ของสองอาณาจักรก็จะยังแนบแน่น มั่นคงไม่เสื่อมคลายเฉกเช่นที่ผ่านมา
ภาพที่ ๑ ตัวอย่างชั้นดินและเครื่องปั้นดินเผาจากการขุดค้นทางโบราณคดี ภาพที่ ๒ ตัวอย่างไหสี่หูและภาชนะกระเบื้องเคลือบที่พบในประเทศญี่ปุ่น ภาพที่ ๓ ตัวอย่างไหสี่หูญี่ปุ่นที่นำเข้าจากประเทศไทย
เผยแพร่โดย ศรัญ กลิ่นสุคนธ์ ภัณฑารักษ์ กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร
(จำนวนผู้เข้าชม 1089 ครั้ง)