วันคล้ายวันประสูติพระราชชายา เจ้าดารารัศมี
        ก้าวเข้าสู่วาระ ๑๕๐ ปีชาตกาลเจ้าดารารัศมี พระธิดาเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๗ และพระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรงกับวันที่ ๒๖ สิงหาคม วันนี้ เพจคลังกลางฯ ขอนำเสนอเกี่ยวกับคุณูปการของพระองค์ด้านศิลปวัฒนธรรม รวมถึงแสดงตัวอย่างผ้าที่ใช้ในการแสดงนาฏศิลป์ที่สำคัญ คือ “ลุนตยา”
        ผ้าลุนตยาอะฉิก เป็นผ้าที่ได้รับความนิยมในสังคมล้านนา สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากเครื่องแต่งกายชนชั้นสูงของราชสำนักพม่า เป็นผ้าทอร้อยกระสวย ลักษณะเป็นลายคลื่นซ้อนกันเจ็ดชั้น แฝงคติสัญลักษณ์จักรวาลทางพุทธศาสนา คือเขาสัตตบริภัณฑ์และห้วงมหาสมุทรล้อมรอบเขาพระสุเมรุ โดยชาวล้านนานิยมนำมาเย็บต่อผ้าเชิงซิ่นตีนจก อันเป็นผ้าทออัตลักษณ์ภาคเหนือ สำหรับใช้นุ่งแบบกรอมเท้า ทั้งนี้ นอกจากนิยมใช้ในกลุ่มชนชั้นสูงแล้ว ยังถูกนำมาใช้ประกอบการฟ้อนรำพื้นเมือง ดังเมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พ.ศ. ๒๔๖๙ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ทรงได้ประดิษฐ์ฟ้อนขึ้นใหม่ให้แตกต่างไปจากการฟ้อนของล้านนา คือ ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา หมายถึงการเริงระบำรำฟ้อนในวิมานพระอินทร์ โดยดัดแปลงท่าฟ้อนร่วมกับครูชาวพม่า จนกลายเป็นลีลาการฟ้อนที่มีการแต่งกายอย่างพม่า นุ่งผ้าลุนตยาและใช้ผ้าคล้องคอประกอบการแสดง
        ทั้งนี้ ภายในห้องคลังผ้าของคลังกลางฯ ยังมีตัวอย่างผ้านุ่งลุนตยา ปรากฏอยู่บนผ้าปักกาละกัต (Kalaga) หรือ ကန့်လန့်ကာ ในภาษาพม่า หมายถึงม่าน ซึ่งนิยมใช้เป็นฉากสำหรับแขวนผนัง ถือเป็นหนึ่งในงานประณีตศิลป์ของราชสำนักพม่า ผ่านการสร้างสรรค์ชั้นสูงด้วยเทคนิคการปักทองเรียกว่า ရွှေချည်ထို (อ่านว่า Shwe Che Hto) หรือเทคนิคด้ายปักทอง โดยช่างผู้สร้างผลงานจะต้องมีความรู้และชำนาญด้านการผูกลาย ตลอดจนมีความสามารถในการใช้เข็มปักผ้า เพ่งสมาธิในการยึดตรึงวัสดุแต่ละส่วนอย่างละเอียดจนได้เป็นกาละกัตขนาดใหญ่ ซึ่งกรรมวิธีดังกล่าวมีหลักฐานว่ามีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยปยู และเป็นที่นิยมสูงสุดช่วงราชวงศ์คองบอง อันมีศูนย์กลางของช่างฝีมือดีอยู่ในบริเวณเมืองมัณฑะเลย์
         โดยลักษณะของผ้าปักนี้ มักปักลายด้วยด้ายสีทอง (ดิ้น) และเส้นไหม มีการบุลายดุนนูน ตกแต่งด้วยลูกปัด มุก เลื่อม กระจก หรือประดับอัญมณี โดยผ้ากำมะหยี่สำหรับปูพื้นด้านหลัง มักจะเป็นผ้าสีแดงหรือสีดำเพื่อขับเน้นลวดลาย หรือฉากหลังที่วิจิตรงดงาม นิยมปักเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ ชาดก พระราชพิธี และลวดลายมงคล โดยแสดงฐานันดรศักดิ์ของบุคคลบนลวดลายผ้า หมายถึงเทวดาและชนชั้นสูง ทั้งนี้ ผ้าปักทองยังเป็นส่วนหนึ่งของศิราภรณ์และพัสตราภรณ์ของราชสำนัก ทั้งปรากฏในการทำชุดหุ่นเชิดของพม่า ซึ่งผ้าปักดังกล่าวก็ยังคงได้รับความนิยมในรูปแบบสินค้าของที่ระลึกของเมียนมาร์ รวมถึงภาคเหนือของไทยอีกด้วย
        ภาพที่ ๑ (ซ้าย) การแสดงฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา (ขวา) พระราชชายา เจ้าดารารัศมี
        ภาพที่ ๒ (ซ้าย) ๑. ผ้าปักพุทธประวัติ ตอน ประสูติ / ๒. ผ้าปักพุทธประวัติ ตอน ออกมหาภิเนษกรมณ์ (ขวา) เจ้าฟ้าเสือห่มฟ้าเมืองแสนหวี และเจ้านางยุ่นจี่ ด้านหลังเป็นผ้าปัก “กาละกัต” ขนาดใหญ่แขวนอยู่ (ขอบคุณภาพถ่ายเก่าจาก หอภาพถ่ายล้านนา : Chiang Mai House of Photography by Associate Professor Kanta Poonpipat Foundation)
        ภาพที่ ๓ (ซ้าย) ๑. ผ้าปักลายพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ / ๒ - ๓ ผ้าปักเรื่องสุวรรณสามชาดก
 
          เผยแพร่โดย ศรัญ กลิ่นสุคนธ์ ภัณฑารักษ์ และพลอยไพลิน ปุราทะกา ผู้ช่วยภัณฑารักษ์/ เทคนิคภาพโดย  พลอยไพลิน ปุราทะกา ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร

(จำนวนผู้เข้าชม 2241 ครั้ง)

Messenger