๑ สหัสวรรษ "จารึกพระศรีสูริยลักษมี"

         ในวาระพุทธศักราช ๒๕๖๕ “จารึกพระศรีสูริยลักษมี” หนึ่งในจารึกหลักสำคัญที่เก็บรักษาอยู่ในคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มีเนื้อหาระบุถึงช่วงเวลาครบรอบสหัสวรรษในปีนี้นั้น วันนี้ เพจคลังกลางฯ ใคร่ขอหยิบยกจารึกหลักนี้ขึ้นมากล่าวถึง โดยจารึกหลักนี้ ลักษณะคล้ายใบเสมา สลักจากหินทราย ใช้อักษรขอมโบราณจารไว้ ๔ ด้าน ซึ่งในส่วนของด้าน ๓ มีการจารถึงช่วงเวลาไว้ความว่า “ศก ๙๔๔ ขึ้น ๕ ค่ำ เสวยฤกษ์กฤตติกา วันพุธ” นำไปสู่การตีความว่าคือช่วงเวลา “มหาศักราช ๙๔๔” ตรงกับ “พุทธศักราช ๑๕๖๕” หรือกว่า ๑๐๐๐ ปีมาแล้ว
        โดยจากการตรวจสอบช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ จารึกหลักนี้คงถูกจารขึ้นในรัชกาลพระเจ้าสูริยวรมันที่ ๑ (ครองราชย์ราวพ.ศ. ๑๕๔๕ - ๑๕๙๓) สอดรับกับเนื้อหาในจารึกที่ได้ออกนามพระองค์ไว้หลายครั้ง ดังความในจารึกด้าน ๑ มีข้อความกล่าวสรรเสริญพระศรีสูรยวรมเทวะ ระบุว่า “...ข้าพเจ้าขอนอบน้อม พระศรีสูรยวรมเทวะ ผู้ครองราชสมบัติด้วยอำนาจอันเข้มแข็ง ... พระศรีสูรยวรมเทวะ ผู้เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่...” และปรากฏอีกครั้งในเนื้อหาหลักว่า “เมื่อมีการแบ่งราชสมบัติของพระศรีสูรยวรมัน พระนางผู้เป็นเทวีได้รับมรดกในราชสมบัติ” อีกด้วย
         จึงอาจตีความได้ว่าจารึกหลักนี้ เป็นจารึกเฉลิมพระเกียรติเจ้านางสตรีผู้มีนามว่า “กัมรเตงอัญเทวี ศรีสูรยลักษมี” ด้วยเนื้อหามีการกล่าวถึงพระราชกิจสำคัญ เช่น ทรงกัลปนาทรัพย์สินและบริวารถวายแด่พระแห่งสิงหล (ลังกา) โดยประวัติระบุว่าพระนางเป็นธิดาของพราหมณ์ผู้แตกฉานในฤคเวท มีพระอนุชานามว่าศิวาสบท ผู้เป็นขุนนางสำคัญในราชสำนัก ทั้งนี้ บทบาทสำคัญของพระนาง ยังระบุในจารึกว่า “...พระเทวีพร้อมด้วยคณะ ผู้มุ่งหน้าต่อบาทของพระศิวะ ได้ประดิษฐานรูปพระปฏิมาของพระวิษณุและพระหริเทพผู้ทำลาย ศิวลึงค์ พร้อมกับดินแดนตำแหน่งที่ตั้ง ให้วางชิดกันในถ้ำอันเป็นแหล่งน้ำแห่งลูกศร ไว้ให้เป็นที่บูชาในหมู่บ้าน ในกาลนั้น พระนางได้สร้างพระศิวลึงค์ยอดทองคำไว้ในเมืองที่กลุ่มบัณฑิตชนจำนวนมากซื้อไว้ ชื่อว่า สกันทวารนา ให้เป็นที่กล่าวถึงความสำเร็จ และชัยชนะของพระองค์” แสดงให้เห็นว่าพระนางมีบทบาทเรื่องการบำรุงศาสนา มีการสร้างศาสนวัตถุประดิษฐานบูชา แม้จะไม่ทราบถึงตำแหน่งที่ตั้งของหมู่บ้านที่ทรงมากัลปนา หรือถ้ำที่ทรงกล่าวถึงในจารึกก็ตาม แต่ก็สามารถอธิบายได้ถึงการเข้ามาของวัฒนธรรมเขมรช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่วัฒนธรรมทวารวดีเสื่อมลงในพื้นที่ภาคกลาง
         นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับจารึกหลักสำคัญ คือ จารึกศาลสูงภาษาเขมร (หลักที่ ๑) ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นจารึกเฉลิมพระเกียรติ “พระบาทกัมรเตง กำตวน อัญศรีสุริยวรรมเทวะ” พระราชสวามีของพระนาง ทั้งยังสอดรับกับช่วงเวลา “ศักราช ๙๔๔ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ วันอาทิตย์” อันเป็นปีบรรจบครบ ๑๐๐๐ ปีเช่นเดียวกัน (ปัจจุบันจารึกศาลสูงภาษาเขมร (หลักที่ ๑) จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)
 
         เผยแพร่โดย ศรัญ กลิ่นสุคนธ์ ภัณฑารักษ์ และวริยา โปษณเจริญ ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ / เทคนิคภาพโดย อริย์ธัช นกงาม ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ / ภาพโดย กิตติยา เชื้อทอง นายช่างภาพปฏิบัติงาน กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร

(จำนวนผู้เข้าชม 456 ครั้ง)