วันปล่อยผี

 

     เข้าสู่ปลายเดือนตุลาคมกับการเฉลิมฉลองของชาวตะวันตกในเทศกาลฮาโลวีน  ซึ่งตรงกับวันที่ 31 ตุลาคมของทุกปี เรียกวันนี้ว่า “วันปล่อยผี” ขอกล่าวถึง “นัต” ผีกึ่งเทพของประเทศพม่า ที่มีการเคารพบูชากันมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน หลายท่านอาจเพิ่งได้ยินเป็นครั้งแรก หากกล่าวถึง “เทพทันใจ” ที่จะดลบันดาลพรที่ปรารถนาให้สัมฤทธิ์ผลอย่างรวดเร็วทันใจ ที่เป็นที่รู้จักของคนไทย คือ“นัตโบโบยี” เป็นนัตตนหนึ่งที่ได้รับการเคารพนับถือเป็นอย่างมากในพม่า วันนี้เชิญชวนทุกท่านมาทำความรู้จัก "นัต" ให้มากยิ่งขึ้น  

     ภายใต้ดินแดนแห่งพระพุทธศาสนาในสังคมพม่า ปรากฏการบูชาผีอย่างเข้มข้นในเวลาเดียวกัน หิ้งนัตถูกตั้งบูชารองลงมาจากหิ้งพระเกือบทั่วทุกบ้านเรือน ชี้ให้เห็นว่า นัตเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวพม่าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพระพุทธศาสนา

   “นัต”(ภาษาพม่า: နတ်) มาจากคำว่า “นาถ” ในภาษาบาลี หมายถึง “ผู้เป็นที่พึ่ง” ณ ที่นี้คือ วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ ทรงอิทธิฤทธิ์ เป็นที่พึ่งพิงและปกป้องคุ้มครองให้อยู่เย็นเป็นสุขได้  นัตจึงไม่ใช่วิญญาณธรรมดาสามัญ มีสถานะกึ่งผีกึ่งเทพ แต่ไม่เทียบเท่ากับเทพ ส่วนใหญ่มักเป็นบุคคลที่เสียชีวิตผิดธรรมชาติ เสียชีวิตด้วยภัยร้ายแรง และจำเป็นต้องมีฤทธานุภาพในการคุ้มครองปกปักรักษาด้านต่าง ๆ จึงถือว่ามีคุณสมบัติที่จะเป็นนัตได้ 

     การจัดระบบนัตเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าอโนรธามังช่อ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์พุกาม ได้อัญเชิญพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทจากเมืองมอญมายังพุกาม ด้วยความช่วยเหลือจากพระเถระชินอรหันต์ พระองค์มีพระราชโองการให้กวาดล้างพระพุทธศาสนา นิกายอารี และความเชื่อนอกรีตต่างๆ รวมถึงการยกเลิกพิธีบูชานัตที่เขาโปปา ทรงจัดระบบนัตแล้วรวบรวมไว้ที่พระเจดีย์ชเวชิโกง นัตบางตนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนัตหลวง เพื่อทำหน้าที่ดูแลรักษาพระเจดีย์  เป็นการจัดระเบียบและตั้งศูนย์รวมจิตใจใหม่ให้ชาวพม่า  ภายใต้ร่มเงาของพระพุทธศาสนา  โดยแต่งตั้ง “ตะจามิง” พระอินทร์ หรือ ท้าวสักกะ ขึ้นเป็นประมุขของนัตทั้งปวง และแบ่งนัตเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  “นัตพุทธ” คือ นัต 37 ตน ตามคัมภีร์มหาสมยสูตร และอาฏนาฏิยสูตรของพระพุทธศาสนา 

  “นัตใน” คือ นัต 37 ตน ที่ถูกกำหนดให้อยู่ภายในเขตกำแพงพระเจดีย์ชเวชิโกง นัตบางตนปรากฏชื่อในคัมภีร์ศาสนาพุทธและฮินดู 

  “นัตนอก” คือ นัต 37 ตน ที่ถูกกำหนดให้อยู่นอกเขตกำแพงพระเจดีย์ชเวชิโกง 

     นัตที่ได้รับการนับถืออย่างมาก อาทิ “มิงมหาคีรี” นัตหลวงแถบเมืองตะกอง เป็นนัตบ้านนัตเรือนดูแลความปลอดภัยในบ้าน หรือ “ชเวพีญญีนอง”  นัตหลวงสองพี่น้อง เมืองมัณฑะเลย์ มีฐานะเป็นนัตครู ร่างทรงทั้งหลายต้องเคารพบูชา และมีเทศกาลบูชาทุกปี  เป็นต้น 

     คลังกลางฯ เก็บรักษานัตที่สำคัญองค์หนึ่ง คือ พระนางโปปาแมด่อ เจ้าแม่ผู้ดูแลเขาโปปา ตามตำนานพระนาง คือ พระนางแหม่วรรณะ  ภรรยาของหม่องพยะตะ  และเป็นมารดาของนัตหลวงสองพี่น้อง ชเวพีญญีนอง  เป็นเครือญาติกับมิงมหาคีรีนัต พระนางบำเพ็ญเพียรและสร้างคุณงามความดี รวมถึงสร้างสถานที่บำเพ็ญเพียร ณ ภูเขาโปปา จนกระทั่งเป็นผู้ได้รับพรพิเศษ ขอสิ่งใดก็สัมฤทธิ์ผล  เมื่อเสียชีวิตจึงกลายเป็นนัตที่มีคนเคารพนับถือ ชาวพม่านิยมขอพรในเรื่องความสำเร็จความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และขอให้อยู่เย็นเป็นสุข

      ความเชื่อที่ฝังรากลึกเรื่องการบูชานัตของชาวพม่ายังมิหมดไป  เพราะนัตยังสามารถตอบสนองความต้องการในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน อันจะเห็นได้จาก การยังคงมีพิธีบวงสรวงบูชานัต และอัญเชิญเข้ามาประทับทรง สืบมาจนถึงปัจจุบัน   

 

เผยแพร่โดย  รัตนรัตน์ กุลสาคร  ผู้ช่วยภัณฑารักษ์

ภาพโดย กิตติยา  เชื้อทอง  นายช่างภาพปฏิบัติงาน

กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  กรมศิลปากร

ดาวน์โหลดไฟล์: วันปล่อยผี.pdf
ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:

(จำนวนผู้เข้าชม 4013 ครั้ง)

Messenger