Mouseion101

 

         หากย้อนกลับไปหาต้นตอของคำว่า Museum ในประวัติศาสตร์ อาจสืบได้ว่ามีรากศัพท์จากการผูกคำระหว่าง -eum ที่แปลว่าสถานที่ กับ muse ที่หมายถึงเทพีแห่งศิลปวิทยาการทั้งเก้า ยืมมาจากภาษาละตินว่า “มูเซอุม” อันมีรากศัพท์จากภาษากรีกโบราณว่า “มูเซออน” (Mouseion) ที่สถิตของเทพีมูซา รากเดียวกับคำว่า music ที่หมายถึงศิลปะที่เทพีทั้งปวงจัดแสดง

         ส่วนกิจการพิพิธภัณฑ์ไทย มีประวัติโดยคร่าวว่า ได้เปิดการจัดแสดงให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมครั้งแรกในตอนค่ำของวันที่ 19 กันยายน 2417 เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาปีที่ 21 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดแสดงโบราณวัตถุที่รวบรวมไว้จากสถานที่ต่าง ๆ เครื่องมงคลบรรณาการ รวมถึงของสะสมส่วนพระองค์ กระทั่งต่อมาได้มีการขยับขยายกิจการพิพิธภัณฑ์จากวังหลวงสู่วังหน้า ปรากฏนาม มูเสียมหลวงที่วังหน้า, พิพิธภัณฑ์วังหน้า, โรงปะเซียม, โรงกระเซียมข้างทุ่งพระเมรุ จนมีคำว่า "สถานพิพิธภัณฑ์" ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ซึ่งความหมายของพิพิธภัณฑ์ปัจจุบัน มีจุดประสงค์หนึ่งระบุว่ามีขึ้นเพื่อความเพลิดเพลินใจ วันนี้ เพจคลังกลางฯ จึงมาในหัวข้อ “วันพิพิธภัณฑ์ไทยกับ 9 ของแปลกที่ไม่คิดว่าจะมีในคลังกลาง”

          นำเสนอวัตถุแต่ละห้องคลัง มีจารึกปูนปลาสเตอร์อักษรไทย-อยุธยา กระดูกปากปลาฉนาก กาน้ำจากไข่นกกระจอกเทศ พระพิฆเนศดินเผา ชิ้นส่วนราวสะพานมัฆวานรังสรรค์ ‘หมาย’ ใช้แทนเงินตราสมัยรัชกาลที่ 4 แก้วที่ระลึกเมื่อคนไปเหยียบดวงจันทร์ รางไม้รูปจระเข้ รวมถึงวัตถุชิ้นสำคัญ คือแผ่นปูมโหร มีประวัติระบุว่าพระธุดงค์องค์หนึ่งพบที่วัดร้างแถบเมืองสุโขทัย และได้มอบให้หม่อมหลวงชิต เสนีวงศ์ เมื่อปี พ.ศ. 2430 โดยวัตถุประสงค์การนำเสนอของแปลกเหล่านี้ มีขึ้นเพื่อสมดังนิยามของคำว่า... พิพิธภัณฑ์

          เผยแพร่โดย ศรัญ กลิ่นสุคนธ์ ภัณฑารักษ์ / ภาพโดย กิตติยา เชื้อทอง นายช่างภาพปฏิบัติงาน / เทคนิคภาพโดย ณัฐดนัย อรุณมาศ ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

ดาวน์โหลดไฟล์: Mouseion101.pdf
ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:

(จำนวนผู้เข้าชม 559 ครั้ง)

Messenger