๑๒ ตุลาคม – วันหอสมุดแห่งชาติ (ตู้พระธรรม)

         
           ด้วยวันที่ ๑๒ ตุลาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนาหอสมุดแห่งชาติ ดังนั้น ในวาระครบ ๑๑๖ ปี เพจคลังกลางฯ จึงขอเชิญชวนทุกท่านเรียนรู้ประวัติ พร้อมทั้งทำความรู้จักโบราณวัตถุยุคบุกเบิกที่เกี่ยวข้องกับหอสมุดแห่งชาติ คือ ตู้พระธรรม ซึ่งเดิมเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ปัจจุบันถูกนำมาเก็บรักษาที่คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยเบื้องต้น หอสมุดแห่งชาติเกิดขึ้นจากการรวมหอสมุดทั้ง ๓ แห่ง แล้วสถาปนาขึ้นเป็นหอพระสมุดสำหรับพระนคร ในสมัยรัชกาลที่ ๕ กระทั่งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลได้โอนหอพระสมุดให้อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น หอสมุดแห่งชาติ ในปัจจุบัน

   “กรมพระดำรงอย่าทิ้งหอพระสมุดนะ” พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีต่อสมเด็จฯ กรมพระดำรงราชานุภาพ (พระยศขณะนั้น) ในคราวโปรดเกล้าฯ ให้ทรงว่าการหอพระสมุดฯ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเก็บรวบรวมบรรดา “ตู้ทองลายรดน้ำ” ที่ถูกทิ้งไว้ตามวัดมาใช้ใส่หนังสือในหอพระสมุดฯ ตู้พระธรรมที่ถูกเก็บรักษาโดยหอสมุดแห่งชาติในปัจจุบันจึงถือเป็นผลจากการดูแลเก็บรักษาในคราวนั้น ด้วยตู้เหล่านี้เป็นโบราณวัตถุที่ทรงคุณค่าด้านศิลปกรรม ซึ่งถูกปรับเปลี่ยนหน้าที่จากเดิมถูกทิ้งไว้อยู่ตามวัดวาอาราม เป็นตู้สำหรับเก็บรักษาหนังสือ สมุดไทย ตลอดจนตำราสำคัญของชาติ

         นอกจากนี้ ยังมีการอนุรักษ์ตู้พระธรรมเหล่านั้นให้ทรงคุณค่า พร้อมทั้งยังนำมาใช้การได้ ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในพระนิพนธ์ เรื่อง ตำนานหอพระสมุด ระบุว่า “... อนึ่ง ตู้ไทยของโบราณมักปิดทองแลเขียนลายแต่ ๓ ด้าน ด้านหลังเปนแต่ลงรักฤาทาสี การที่จะใช้ใส่หนังสือในหอพระสมุดฯ ได้คิดแก้ติดบานกระจกเปิดข้างด้านหลังให้แลเห็นสมุดในตู้นั้นได้ แลไม่ต้องจับทางข้างบานตู้ให้ลายหมอง ...” มีตัวอย่างเป็นตู้ชิ้นสำคัญ เป็นตู้ขาหมู ลายม่านทอง เครื่องกี๋จีน ด้านหลังเป็นกระจก เก็บรักษาอยู่ที่คลังกลางฯ ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ มีประวัติระบุว่า “สร้างประดิษฐ์ไว้ในหอไตรวัดราชโอรสมีอยู่ ๓ ใบ ถูกฝนและปลวกผุทั้งหนังสือหมด คงใช้ได้ ๑ ใบ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สภานายกหอพระสมุดสำหรับพระนคร มีรับสั่งให้ย้ายมารักษาไว้ ณ หอพระมณเฑียรธรรมสำหรับเก็บพระไตรปิฎกหอพระพุทธศาสนาต่อไป” ซึ่งลายม่านนี้ ยังสอดคล้องกับความนิยมเขียนม่านประดับในงานจิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ ๓ - รัชกาลที่ ๔ ด้วย

          ระยะเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้หน้าที่ของตู้พระธรรมรวมถึงวิธีการเก็บรวบรวมและอนุรักษ์เอกสารแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ปัจจุบันจึงมีการจัดแสดงตู้พระธรรมในตึกถาวรวัตถุเพื่อเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้และส่งเสริมให้เห็นคุณค่าของงานช่างไทยในอดีต ดังนั้น ตู้พระธรรมหรือตู้ที่ใช้เก็บหนังสือสมุดไทย จึงถือเป็นวัตถุชิ้นสำคัญและมีบทบาทต่อพิพิธภัณฑ์ด้วยเช่นกัน ส่งท้ายบทความวันนี้ หากท่านใดอยากชมตู้พระธรรม ศึกษาลวดลายต่าง ๆ สามารถเข้าชมนิทรรศการตู้ลายทอง ณ อาคารถาวรวัตถุ (ตึกแดง) ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

 

          เผยแพร่โดย ศรัญ กลิ่นสุคนธ์ ภัณฑารักษ์ และอาทิมา ชาโนภาษ ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ 

          ภาพโดย กิตติยา เชื้อทอง นายช่างภาพปฏิบัติงาน

          เทคนิคภาพโดย ณัฐดนัย อรุณมาศ ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ 

กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร

(จำนวนผู้เข้าชม 771 ครั้ง)

Messenger