บัลลังก์จำลอง

     “บัลลังก์จำลอง” โลหะผสมปิดทอง ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๒๒

     ขนาด กว้าง ๑๖.๘ เซนติเมตร ยาว ๓๖.๘ เซนติเมตร สูง ๓๒.๙ เซนติเมตร

ประวัติ ได้จากการขุดค้นวัดเจดีย์สูง ตำบลฮอด อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณที่จะถูกน้ำท่วมเมื่อสร้างเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

     บัลลังก์จำลอง - อาสนา - ราชอาสน์ - ราชบรรจถรณ์ พร้อมเครื่องสูงสำหรับกษัตริย์ในวัฒนธรรมล้านนา สร้างขึ้นเพื่ออุทิศในพระพุทธศาสนา ประกอบด้วย อาสนาทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีพนักสูง ประดับเครื่องราชภัณฑ์สำหรับอภิเษกกษัตริย์ ได้แก่ กลด (ฉัตรชั้นเดียว) จามร (แส้ขนจามรี) ระแอบังหมู่วัน (บังสูรย์) วาลวิชนี (พัด) และเขียงเท้า (ฉลองพระบาท) ฉลุลายกลีบบัวคว่ำ ๑ คู่ 

    นอกจากนี้ ในพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๐ ขุททกนิกายชาดก ภาคที่ ๒ ยังระบุถึง “เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์” (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ระบุว่า กกุธภัณฑ์ [กะกุดทะ-] น. สัญลักษณ์สำคัญแห่งความเป็นพระมหากษัตริย์... (ป. กกุธ ว่า เครื่องหมายความเป็นพระราชา + ภณฺฑ ว่า ของใช้). ประกอบด้วย พัดวาลวิชนี (แส้จามร) อุณหิส (กรอบพระพักตร์) พระขรรค์ เศวตฉัตร และฉลองพระบาทประดับด้วยทอง ส่วนเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ในวัฒนธรรมไทย ประกอบด้วย พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร วาลวิชนี และฉลองพระบาทเชิงงอน

 

     อ้างอิงจาก หนังสือประกอบนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย เรื่อง “นครรัฐไทยบนแผ่นดินสุวรรณภูมิ” สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร

    เทคนิคภาพโดย อริย์ธัช นกงาม ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ เผยแพร่โดย ศรัญ กลิ่นสุคนธ์ ภัณฑารักษ์ กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร

(จำนวนผู้เข้าชม 1051 ครั้ง)

Messenger