ศิลาจารึกหลักที่ ๑

         มีประวัติโดยคร่าวกล่าวว่าศิลาจารึกหลักนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) เมื่อครั้งทรงผนวช มีรับสั่งให้นำลงมาจากเมืองสุโขทัย เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๗๖ เก็บรักษาไว้ในหอพระสมุดวชิรญาณ กระทั่งวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๑ นายเชื้อ สาริมาน อธิบดีกรมศิลปากรในสมัยนั้น ให้นำมาจัดแสดงในห้องสุโขทัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

          ส่วนความเป็นที่สุดของจารึกหลักนี้ มีจุดเริ่มต้นอยู่ในจดหมายเวร ฉบับลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๔๗๕ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระวินิจฉัยต่อพระดำริในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ว่าด้วยเรื่องวรรณยุกต์ โดยทรงได้เทียบเคียงกับสำเนียงแต่ละภูมิภาค กระทั่งทรงพบหลักฐานชิ้นสำคัญ มีเนื้อหาระบุไว้ความว่า “...ครั้นเช้าวันนี้หม่อมฉันไปพิพิธภัณฑสถาน เรื่องปรารภที่ทูลมาติดใจไป จึงแวะไปดูหลักศิลาจารึกของพระเจ้ารามคำแหงมหาราช เห็นใช้หมายกากะบาด ไม่มีโท แต่มีเอก ก็นึกว่าจะมีวิธีอ่านและออกสำเนียงเปนอย่างอื่น ไม่เหมือนเช่นเราชาวกรุงเทพฯใช้กัน จึ่งทูลมาเพื่อทรงวินิจฉัย”

          ต่อมา สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงพิจารณาตรวจสอบเรื่องไม้เครื่องหมายเสียงและสำเนียงภาษาแล้ว จึงได้ถวายรายงานตอบกลับในจดหมายเวร ฉบับลงวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๕ ความว่า “...ไม้เอกโทนั้น ได้พบในหนังสืออันแก่ที่สุดก็ที่จารึกหลักศิลาของขุนรามคำแหงเมืองสุโขทัย ... ไม้เอกแปลว่าไม้อันเดียวขีดเดียว ไม้โทแปลว่าไม้สองอันขีดก่ายกันเป็นกากบาท ต่อมาภายหลังเขียนอย่างง่ายๆ ไม่ยกเหล็กจาร ทุกวันนี้จึ่งกลายรูปเป็นไม้สองอันต่อกันเป็นมุมฉาก ... เมื่อจารึกหนังสือไทยลงหลักศิลานั้นมีไม้เอกโทแล้ว หลักศิลานั้นเป็นหนังสือไทยที่จารึกในแผ่นดินขุนรามคำแหง และมีความปรากฏว่าขุนรามคำแหงเป็นผู้คิดหนังสือไทย ก็ต้องถือว่าไม้เอกโทมีมาพร้อมแต่แรกคิดหนังสือไทยในครั้งขุนรามกำแหงนั้น..." ดังนั้น จากพระวินิจฉัยข้างต้น จึงสรุปได้ว่าศิลาจารึกหลักที่ ๑ ถือเป็น “หนังสืออันแก่ที่สุด” ที่กล่าวถึงวรรณยุกต์เอกโท ทั้งยังถือว่าเป็นจารึกอักษรไทย ภาษาไทยที่เก่าที่สุดด้วย

 

          (เผยแพร่ข้อมูลโดย นายศรัญ กลิ่นสุคนธ์ ภัณฑารักษ์ กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ / เทคนิคภาพโดย นายอริย์ธัช นกงาม ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ / ภาพประกอบจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

(จำนวนผู้เข้าชม 905 ครั้ง)

Messenger