พิธีลุยไฟ

     “พิธีลุยไฟ” รวมถึงทบทวนวรรณกรรมที่มีพิธีเกี่ยวกับ “ไฟ” ในวัฒนธรรมไทย พร้อมทั้งนำเสนอโบราณวัตถุในคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยฉากพิธีลุยไฟในละครดังกล่าว มีลักษณะใกล้เคียงกับ “พระไอยการลักษณะพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิง” ในกฎหมายตราสามดวง เริ่มต้นด้วยการอ่านโองการเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาเป็นพยาน ตั้งสัจจาอธิษฐานแล้วจึงทำการพิสูจน์ด้วยวิธีต่าง ๆ (ดูเพิ่มเติมใน https://thematter.co/social/8-way-of-legendary-trial/19188) อย่างการดำน้ำ จะมีการปักเสาไว้สองต้น ให้ทั้งสองฝ่ายดำลงไป ใครทนไม่ไหวผุดขึ้นจากน้ำก่อนถือว่าเป็นฝ่ายผิด ส่วนวิธีลุยไฟ พนักงานจะทำรางยาว สุมถ่านหนาราวคืบหนึ่ง แล้วจึงจุดไฟให้สองฝ่ายเดิน ผู้ที่ถูกกล่าวหาจะตั้งจิตอธิษฐานว่า “หากตนบริสุทธิ์ขออย่าให้ความร้อนจากกองไฟทำลายได้” จากความเชื่อที่ว่าคนที่ใจบริสุทธิ์จะเดินผ่านกองไฟได้โดยไม่มีอันตราย ทว่า ผ่านไป ๓ วัน หากฝ่ายไหนเท้าพองขึ้นให้ถือเป็นฝ่ายผิด (กรณีไม่พองหรือพองทั้งคู่ให้ถือว่าเสมอกันไม่มีฝ่ายผิด) ซึ่งนอกจากวรรณกรรมเรื่องขุนช้างขุนแผนจะมีเหตุการณ์ดำน้ำ-ลุยเพลิงแล้ว วรรณกรรมอีกเรื่อง คือ “รามเกียรติ์” ยังมีฉากการพิสูจน์ความจริงของสีดา ดังที่ทุกคนรู้จักในชื่อ “สีดาลุยไฟ”

          “...โอ้ว่าพระรามยังแคลงใจ จบศึกกรุงลงกา พิสูจน์เจ้านางสีดา ให้บุกเดินลุยไฟ...” จุดเริ่มต้นของฉากลุยไฟในเรื่องรามเกียรติ์ เกิดขึ้นภายหลังสิ้นสุดสงครามที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน พระรามอัญเชิญนางสีดากลับกรุงอโยธยา ทว่า พระองค์ไม่อยากให้ผู้ใดนินทานางสีดา ด้วยไปอยู่กรุงลงกานานถึง ๑๔ ปี นางสีดาจึงขอลุยไฟพิสูจน์ความบริสุทธิ์ต่อหน้าเหล่าเทวดา โดยพระรามให้สุครีพนำเชื้อไฟมากองที่หน้าพลับพลา แล้วทรงแผลงศรเป็นไฟลุกขึ้นต่อหน้าเหล่าเทวดาทั้งปวง ก่อนลุยไฟนางสีดาได้ตั้งสัตย์อธิษฐานว่า หากนางซื่อสัตย์ต่อสามีขออย่าให้มีความร้อน เมื่อสิ้นคำอธิษฐานนางสีดาทำการลุยไฟ ปรากฏว่าความร้อนจากไฟพ่ายแพ้ต่อแรงอธิษฐาน มีดอกบัวบานผุดขึ้นรองรับทุกย่างก้าว แสดงให้เห็นว่านางสีดาเป็นผู้บริสุทธิ์ โดยในแง่ศิลปกรรมได้ถูกถ่ายทอดลงบนแผ่นหนังฉลุลาย ระบายสี เป็นรูปนางสีดาลุยไฟ แวดล้อมด้วยลายกนกเปลวและลายดอกพิกุล ด้านล่างสลักรูปพลลิงถือนั่งถือพัดโบก มีประวัติระบุว่ากรมมหรสพส่งมาเก็บไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ อนึ่ง มีจุดสังเกตที่สำคัญ คือ นางสีดาครองผ้า “สไบสองชาย” นัยหนึ่งอาจหมายความถึงลักษณะการนุ่งห่มผ้า อีกนัยหนึ่งอาจมีนัยแฝงถึงความสัมพันธ์ระหว่างนางสีดา พระราม และทศกัณฐ์ก็เป็นได้


          นอกจากนี้ ในแง่ของประเพณีพิธีกรรม ทุกวันที่ ๗ เดือน ๙ ตามปฏิทินจันทรคติของจีน “วันเก๊าวั่ยชิวชิค” จะมีพิธีทรงเจ้าแสดงความศักดิ์สิทธิ์ในเทศกาลกินเจ และมีพิธีลุยไฟ หรือ “เกี่ยโฮ้ย” โดยพนักงานจะนำไม้เชื้อเพลิงวางเป็นทางเดินยาวประมาณ ๑๐ เมตร เว้นที่สำหรับลงน้ำหนักเท้า ผู้ร่วมพิธีที่จะลุยไฟจะเดินด้วยเท้าเปล่าเหยียบในบริเวณที่ไฟมอดแล้ว สลับกับที่ว่างที่เว้นไว้ จากคติของชาวจีนโบราณที่เชื่อว่าการลุยไฟเป็นการสะเดาะเคราะห์นั่นเอง ท้ายที่สุด ขอจบด้วยเรื่อง “คนดี” คติธรรมของสมเด็จพระญาณสังวรฯ ที่ให้ไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ว่า “ผู้ที่ตกน้ำไม่ไหล” คือน้ำไม่พัดพาไปถึงได้รับอันตราย ก็ไม่ได้หมายความว่าน้ำหยุดไหล แต่หมายความว่ามีผู้ช่วยนำขึ้นให้พ้นน้ำได้ “ผู้ที่ตกไฟไม่ไหม้” ก็ไม่ได้หมายความว่าไฟไหม้เนื้อหนังร่างกายจริงๆ แต่หมายความว่ามีผู้ช่วยให้พ้นจากไฟ หรือช่วยดับไฟให้ตนจึงพ้นภัยอันเกิดจากไฟนั้น (ดูเพิ่มเติมใน http://www.dhammathai.org/monktalk/dbview.php?No=1603)

        

          เผยแพร่โดย นายศรัญ กลิ่นสุคนธ์ ภัณฑารักษ์ กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

(จำนวนผู้เข้าชม 11109 ครั้ง)

Messenger