พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์

          โดยเอกสารฉบับนี้ หอสมุดแห่งชาติจัดให้อยู่ในหมวดจดหมายเหตุ เลขที่ ๓๐ ระบุประวัติการรับมอบเอกสารไว้เมื่อ ๑๙/๓/๒๔๕๐ หรือ ๑๙ มิถุนายน ๒๔๕๐ ส่วนเรื่องราวการค้นพบมีระบุอยู่ในจดหมายเวรของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฉบับลงวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๘๕ ว่า “...วันหนึ่งไปเห็นยายแก่กำลังรวบเอาสมุดไทยลงใส่กะชุที่บ้านแห่งหนึ่ง ถามว่าจะเอาไปไหน แกบอกว่าจะเอาไปเผาไฟทำสมุกสำหรับลงรัก...พระยาปริยัติฯ เห็นเป็นหนังสือเรื่องพงศาวดารอยู่เล่ม ๑ จึงขอยายแกเอามาส่งให้หม่อมฉันที่หอพระสมุดฯ...มีบานแผนกว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตรัสสั่งให้รวบรวมจดหมายเหตุต่างๆ แต่งหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับนั้น เมื่อวันพุธเดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีวอก จุลศักราช ๑๐๔๒ (พ.ศ.๒๒๒๓) ...หม่อมฉันจึงให้เรียกว่า “พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ” เพื่อเป็นเกียรติยศแก่ผู้ได้มา...” เพราะฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่าเอกสารฉบับนี้ เป็น “หนังสือสมุดไทยฉบับเก่าที่สุด” เท่าที่พบในปัจจุบัน ซึ่งในปีนี้ (ปีพุทธศักราช.๒๕๖๓) มีอายุครบ ๓๔๐ ปี 

          คุณูปการของพงศาวดารฉบับนี้ ยังนำมาซึ่งการค้นพบสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ดังมีเนื้อหาระบุในจดหมายเวรฉบับเดียวกันว่า “...พระเจดีย์ยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีเกี่ยวข้องกับตัวหม่อมฉันอยู่บ้าง... เห็นในฉบับหลวงประเสริฐว่า พระมหาอุปราชมาตั้งประชุมทัพอยู่ที่ตำบลตระพังกรุ แล้วมาชนช้างกับสมเด็จพระนเรศวรที่ตำบลหนองสาหร่าย... สั่งให้ไปสืบดู ว่าตำบลชื่อหนองสาหร่ายในแขวงเมืองสุพรรณยังมีหรือไม่... พอหม่อมฉันเห็นรายงานกับรูปฉายที่พระยาสุพรรณส่งมาก็สิ้นสงสัย รู้แน่ว่าพบพระเจดีย์ยุทธหัตถีเป็นแน่แล้วมีความยินดีแทบเนื้อเต้น...” โดยจดหมายฉบับนี้ มีเนื้อหาสอดรับกับประกาศในราชกิจจานุเบกษา (๓ มีนาคม ๒๔๕๖) ใจความระบุว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระเจดีย์ยุทธหัตถีที่สุพรรณบุรี รวมถึงมีการค้นพบโบราณวัตถุโดยรอบพระเจดีย์องค์นี้ ๓ รายการ คือ ยอดธงไชยสัมฤทธิ์รูปวชิระ, ลูกตุ้มสัมฤทธิ์ชั่งของ มีรอยอักษรรามัญคล้ายเลข ๓ และปืนใหญ่ ๑ กระบอก 

          ทั้งนี้ หากทุกท่านมีโอกาสได้เข้ามาเยี่ยมชมนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “ศิลปวิทยาการจากสาส์นสมเด็จ” (ซึ่งจะเปิดให้เข้าชมวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๓) ในส่วนของสองสมเด็จกับงานด้านภาษาและหนังสือ จะสังเกตได้ว่าพระราชพงศาวดารหลวงประเสริฐฯ ถูกจัดแสดงให้อยู่ใกล้กับหนังสือเรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีปอย่างมีนัยยะสำคัญ ด้วยหนังสือเรื่องประดิษฐานพระสงฆ์ฯ ได้กล่าวถึงพระราชพงศาวดารฉบับนี้ว่าด้วยเรื่องคติการสร้างเจดีย์ตรงที่สมเด็จพระนเรศวรมีชัยชนะพระมหาอุปราชา มีความคล้ายคลึงกับการสร้างเจดีย์ของพระเจ้าทุฏฐคามินี ซึ่งมีชัยเหนือพระยาเอฬารทมิฬ จนเป็นที่มาของการสร้าง ‘เจดีย์รุวัลเวลิ’ นั่นเอง 

 

          (เผยแพร่ข้อมูลโดย นายศรัญ กลิ่นสุคนธ์ ภัณฑารักษ์ กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ / เทคนิคภาพโดย นายอริย์ธัช นกงาม ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ / ภาพประกอบจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

 

(จำนวนผู้เข้าชม 10154 ครั้ง)

Messenger