งู

    “งู” โดยความเชื่อเรื่องนี้ ผูกพันกับสังคมไทยตั้งแต่ก่อนรับพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้จากลวดลายบนภาชนะดินเผายุคก่อนประวัติศาสตร์ในวัฒนธรรมบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี หรือหม้อเขียนสี เขียนลายงูพันกันในวัฒนธรรมบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี 

          นอกจากนี้ การบูชางูยังถือเป็นความนิยมในทางสากล เป็นสัญลักษณ์ของความอมตะ การลอกคราบเปรียบเสมือนการเกิดใหม่หรือการคืนชีพ ดังจะเห็นได้ว่าในวัฒนธรรมอียิปต์มีการประดับงูบนกระบังหน้าฟาโรห์ (Pharaoh) และงูยังอยู่ในฐานะผู้ล่อลวงอดัมและเอวาให้ละเมิดคำสั่งของพระเจ้า ส่วนงูที่ปรากฏเป็นเครื่องหมายทางการแพทย์ มีที่มาจากเทพนิยายกรีกเรื่อง “เอสคูลาปิอุส” ชายหนุ่มผู้มีความสามารถทางการแพทย์จนสามารถรักษาคนตายให้กลับมามีชีวิตได้ มีเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งขณะเอสคูลาปิอุสกำลังทำการบำบัดโรคให้ผู้ป่วย มีงูตัวหนึ่งเลื้อยขึ้นมาพันคทา เป็นที่มาของเชื่อถือที่ว่างูเป็นผู้บันดาลความรู้และสติปัญญา ส่วนคทาเป็นเครื่องหมายของการป้องกันภัย 

          ทว่า ในประเทศไทย ภายหลังการสถาปนา “กรมสาธารณสุข” ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ขึ้นเป็นกระทรวง เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๘๕ แล้ว ทางราชการได้กำหนดรูปคบเพลิงมีปีกและมีงูพันคบเพลิงเป็นเครื่องหมายของ "กระทรวงสาธารณสุข" แม้ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดเกี่ยวกับความหมายของคบเพลิง แต่จากการสันนิษฐานน่าจะมีความหมายเช่นเดียวกับคทา คือป้องกันภัย (ฆ่าเชื้อโรค?) รวมถึงเป็นแสงสว่างนำทางให้ผู้ศึกษาความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อการรักษา

          - เศียรนาคดินเผาลายขูดขีด คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รับมาจากด่านศุลกากร ท่าอากาศยานดอนเมือง -

    Post by Admin Sarun / Photo by Nai9Kob

(จำนวนผู้เข้าชม 1597 ครั้ง)

Messenger