อรุณเทพบุตร...บุรุษผู้มาก่อนองค์สูรยะ


ลายอรุณเทพบุตรเหนือประตูของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภาพโดย chaipat kaewjaras

        พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของประเทศไทย เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๗๕ ทำให้วันที่ ๑๐ ธันวาคมของทุกปี ถือเป็นวันที่ระลึกวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ โดยมี “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงบ่อยครั้ง แม้ว่าประวัติการสร้างจะห่างกันถึง ๘ ปี แต่สถาปัตยกรรมแห่งนี้ ก็ได้มีการออกแบบสัญลักษณ์บางประการให้เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทย ว่าด้วยเรื่อง “อรุณเทพบุตร...บุรุษผู้มาก่อนองค์สูรยะ” พร้อมทั้งนำเสนอโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับประติมานวิทยาทางศาสนาฮินดู ที่ปรากฏบนอนุสรณ์สถานดังกล่าว

    “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” หลักกิโลเมตรที่ ๐ ของทางหลวงสายประธานทั้ง ๔ สายแห่งนี้ เป็นผลงานการออกแบบของหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล โดยมีศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง ซึ่งองค์ประกอบของอนุสาวรีย์ล้วนมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ ไม่ว่าจะทางเป็นตัวเลขหรือทางประติมานวิทยา ดังจะเห็นได้จาก “ลายอรุณเทพบุตร” ที่ประดับบริเวณหน้าบันเหนือประตูทั้ง ๖ ด้าน ลักษณะเป็นเทพผู้มีพระวรกายครึ่งองค์ ทรงแพนหางนกยูง สอดรับกับเทวกำเนิดที่ระบุว่าเทพองค์นี้เกิดก่อนกำหนด ทำให้ไม่มีพระวรกายส่วนล่าง ประกอบกับพระนามที่แปลว่า “แดงเรื่อ” หรือ แสงตะวันเมื่อแรกขึ้น ก็สอดรับกับหน้าที่ของพระองค์ ผู้เป็นสารถีขับรถให้องค์พระสูรยะ ซึ่งในส่วนของพระสูรยะ นอกจากจะแสดงออกเป็นรูปบุคคลชายนั่งขัดสมาธิ มือทั้งสองถือดอกบัวยกขึ้นระดับหน้าอกแล้ว ยังอาจถูกตีความมาในรูปของ “ครุฑ” เทวพาหนะของพระวิษณุ ผู้เป็นหนึ่งในกลุ่มอาทิตยเทพ (พระสูรยะ พระวิษณุ และเทวีอุษา) ได้อีกด้วย ดังนั้น หากพิจารณาตามตำนานว่า“ครุฑ” คือน้องชายของอรุณเทพบุตรแล้ว ดังนั้น การที่อรุณเทพบุตร(เกิด)มาก่อนครุฑ จึงเปรียบได้ถึงอรุณเทพบุตรผู้เป็นสารถีนำรถของพระสูรยะนั่นเอง



ภาพครุฑบนปกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ ๑๕ ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๓๔ คลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

          อย่างไรก็ดี จากการศึกษาของศาสตราจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ (อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร) พบว่าลายอรุณเทพบุตรไม่เคยถูกใช้เป็นลายประดับอาคารใดมาก่อน หากแต่สืบประวัติย้อนไปได้ว่า สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเคยเขียนรูปอรุณเทพบุตรในลักษณะท่าทางแบบเดียวกันอยู่ภาพหนึ่ง กระทั่งปรากฏครั้งแรกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย รวมถึงปรากฏบริเวณหน้าบันพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ บางเขน ในเวลาต่อมา ดังนั้น การปรากฏตัวของอรุณเทพบุตรเหนือพานรัฐธรรมนูญในที่นี้ จึงอาจหมายถึง แสงสว่างที่แรกขึ้นและเริ่มส่องสว่างเข้าสู่เมืองไทยยุคใหม่ หรือหมายถึง “เวลาย่ำรุ่ง” ของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ที่พระสูรยะ (ประชาธิปไตย) มาประดิษฐานที่บ้านเมืองนี้ ก็เป็นได้

 

   

 เผยแพร่โดย : นายศรัญ กลิ่นสุคนธ์ ภัณฑารักษ์ กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ / เทคนิคภาพ : นายอริย์ธัช นกงาม ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

(จำนวนผู้เข้าชม 6694 ครั้ง)