...

ต้นแบบพระบรมรูป รัชกาลที่ 6

         ต้นแบบพระบรมรูป รัชกาลที่ 6

         ของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

         100 ปี ศิลปสู่สยาม สุนทรียศิลปแห่งนวสมัย

         พ.ศ. 2482 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีดำริให้จัดสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ณ สวนลุมพินี เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ได้พระราชทานที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ ณ ตำบลศาลาแดง จํานวน 360 ไร่ เพื่อเป็น “วนสาธารณ์” หรือสวนสาธารณะให้แก่ประชาชน รัฐบาลได้มอบหมายให้กรมศิลปากร ซึ่งมี ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบและปั้นหล่อพระบรมรูป

         ศาสตราจารย์ศิลป์ปั้นต้นแบบพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรูปแบบเหมือนจริงอย่างศิลปะตะวันตกตามหลักวิชาการ (Western Academic Art) ซึ่งเป็นรูปแบบการสร้างสรรค์งานประติมากรรมที่ท่านถนัดและมีความเชี่ยวชาญสูง ซึ่งอาศัยความรู้และความแม่นยำในเรื่องกายวิภาค ประกอบกับฝีไม้ลายมือทางด้านศิลปะในการขึ้นรูปดินเหนียวให้เป็นรูปมนุษย์ได้อย่างสมจริงประหนึ่งบุคคลต้นแบบ โดยศาสตราจารย์ศิลป์ได้แสดงฝีมือจนเป็นที่ประจักษ์มาแล้ว จากผลงานการปั้นพระรูปสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ปั้นพระบรมรูปจากพระองค์จริงเมื่อ พ.ศ. 2468

‘ต้นแบบพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ที่จัดแสดงในนิทรรศการพิเศษ “100 ปี ศิลปสู่สยาม สุนทรียศิลปแห่งนวสมัย” ฉลองพระองค์ชุดนายพลเสือป่าพรานหลวง ประทับยืนพักพระชานุขวาบนฐานประดับตราพระครุฑพ่าห์ น่าจะเป็นหนึ่งในต้นแบบพระบรมรูปที่ศาสตราจารย์ศิลป์สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการจัดสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นที่น่าเสียดายว่าต้นแบบนี้มิได้นำไปสร้างจริง เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางอย่างเพื่อให้สอดคล้องกับข้อคิดเห็นของคณะกรรมการฯ พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างแล้วเสร็จในปี 2485 และยังประดิษฐานเป็นศูนย์กลางของสวนลุมพินีจนถึงปัจจุบัน

         นิทรรศการพิเศษ “100 ปี ศิลปสู่สยาม สุนทรียศิลปแห่งนวสมัย” จัดแสดงระหว่างวันที่ 18 มกราคม – 9 เมษายน 2566 ณ อาคารนิทรรศการ 4 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป เปิดให้เข้าชมวันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 9.00 – 16.00 น. (ปิดวันจันทร์ – วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์)

(จำนวนผู้เข้าชม 2773 ครั้ง)