ประหยัด พงษ์ดำ (พ.ศ. 2477 – 2557)
ประหยัด พงษ์ดำ เกิดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2477 ที่จังหวัดสิงห์บุรี เริ่มเรียนศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่างเมื่อ พ.ศ. 2492 จากนั้นเข้าศึกษาต่อที่คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 5 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้มอบหมายให้ประหยัดสอนวิชาทฤษฎีศิลป์ (Art Theory) และวิชากายวิภาค (Anatomy) ต่อมาในปี 2504 ได้รับทุนไปศึกษาต่อทางด้านศิลปะที่สถาบันวิจิตรศิลป์แห่งกรุงโรม (L’Accademia di Belle Arti di Roma) ประเทศอิตาลี เป็นเวลา 2 ปี ได้รับประกาศนียบัตร Diploma of Fine Art หลังจากสำเร็จการศึกษา ประหยัดกลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะจิตรกรรมฯ จนกระทั่งปี 2523 ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งคณบดีคณะจิตรกรรมฯ ประหยัดเกษียณอายุราชการในปี 2537 แต่ยังคงได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์พิเศษที่คณะจิตรกรรมฯ และสถาบันการศึกษาอีกหลายแห่ง
ประหยัดสร้างสรรค์ผลงานทั้งจิตรกรรมและภาพพิมพ์ ผลงานในระยะแรกเป็นภาพพิมพ์ด้วยแม่พิมพ์ยาง (Lenocut) ไม้อัด (Plywood) และมาโซไนท์ (Masonite) ผลงานจึงมีขนาดค่อนข้างใหญ่ และเป็นเพียงภาพขาว – ดำ หรือภาพที่มีสีเพียงไม่กี่สี แสดงถึงเรื่องราวในบรรยากาศและความรู้สึกของศิลปินเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งเร้นลับ ไสยศาสตร์ และโหราศาสตร์ ผ่านภาพสัตว์และทิวทัศน์ในชนบทเป็นส่วนใหญ่
ต่อมาประหยัดได้ศึกษาเทคนิคการพิมพ์ภาพพิมพ์หลายสี ด้วยแม่พิมพ์ชิ้นเดียวและหลายชิ้น โดยใช้เทคนิคภาพพิมพ์สีน้ำมัน มีการใช้สีสันมากขึ้นเพื่อทำให้ผลงานดูสดใส มีชีวิตชีวา ผลงานจึงมีลักษณะแปลกใหม่ นำเสนอเรื่องราววิถีชีวิตความเป็นอยู่ สภาพแวดล้อมในชนบท เรื่องของจิตวิญญาณ ความเชื่อทางศาสนา ความผูกพันกันระหว่างแม่กับลูกทั้งในมนุษย์และสัตว์ โดยเฉพาะรูปกิริยาท่าทางของสัตว์ชนิดต่างๆ ที่ประหยัดนำมาเป็นตัวละครหลักในการสร้างสรรค์ผลงาน เช่น ม้า วัว ตุ๊กแก นกเค้าแมว แมว และไก่
ประหยัดสามารถสร้างภาพพิมพ์รูปสัตว์ให้ดูมีชีวิต มีการเคลื่อนไหว และแสดงลักษณะของสัตว์ในอิริยาบถต่างๆ ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ภาพพิมพ์บางชิ้นมีการติดทองคำเปลวลงไปก่อนการพิมพ์รูป เช่น ดวงตาของแมวในที่มืด และดวงดาวบนท้องฟ้าอันมืดมิด เพื่อทำให้เกิดจุดสนใจและให้กลิ่นอายของความเป็นไทย รู้สึกได้ถึงความลึกลับ วังเวง และน่าค้นหา ถ่ายทอดบรรยากาศแห่งความเงียบสงบในช่วงเช้ามืดที่เงียบสงัด และช่วงโพล้เพล้จวนค่ำ ผลงานจึงแฝงเร้นไปด้วยความลึกลับ เน้นการสื่อสารถึงอารมณ์ความรู้สึก มากกว่าการยึดติดในความสวยงามทางกายภาพ
ในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 12 (พ.ศ. 2504) ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้กล่าวถึงผลงานของประหยัดไว้ว่า “…เห็นได้ว่างานครั้งหลังของประหยัดมีความก้าวหน้าทางเทคนิคมาก ไม่แพ้การออกแบบ ภาพควายขวิดกันและภาพไก่นั้นเขียนอย่างกล้า และมีองค์ประกอบภาพถ่วงกันอย่างพอเหมาะพอดี…” ผลงานชิ้นเด่นของประหยัด เช่น “ยามเช้า” เป็นภาพพิมพ์ที่ใช้เทคนิคการแกะไม้เป็นรูปไก่กำลังโก่งคอขัน องค์ประกอบต่างๆ จัดวางได้อย่างเรียบง่ายและกลมกลืน แสดงความเคลื่อนไหวของไก่อย่างมีพลัง สะท้อนถึงวิถีชีวิตในชนบทได้เป็นอย่างดี
พ.ศ. 2524 ประหยัดได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยม สาขาภาพพิมพ์ จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ และกระทรวงวัฒนธรรมประกาศเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) เมื่อ พ.ศ. 2541 ประหยัดถึงแก่กรรมเนื่องจากระบบหายใจและไหลเวียนโลหิตล้มเหลว เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2557 สิริอายุ 79 ปี
ที่มา
1. หนังสือ “ศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ 2477 – 2557” โดย ครอบครัวพงษ์ดำ
2. หนังสือ “ศิลปวิชาการ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” โดย วิบูลย์ ลี้สุวรรณ
3. หนังสือ “5 ทศวรรษ ศิลปกรรมแห่งชาติ 2492 – 2541” โดย หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
4. หนังสือ “ศิลปะรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 9” โดย ศาสตราจารย์วิโชค มุกดามณี
(จำนวนผู้เข้าชม 18928 ครั้ง)