...

ประสงค์ ปัทมานุช (พ.ศ. 2461 – 2523)
ประสงค์ ปัทมานุช
(พ.ศ. 2461 – 2523)
ประสงค์ ปัทมานุช เกิดเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2461 ที่กรุงเทพฯ มีความสนใจทางด้านศิลปะและการวาดภาพมาตั้งแต่เด็ก ประสงค์เริ่มเรียนศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่างในปี 2480 จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม แผนกช่าง จนจบการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2483 ในปีต่อมาประสงค์เข้ารับราชการที่แผนกหัตถศิลป์ กรมศิลปากร และเป็นอาจารย์สอนวิชาจิตรกรรมที่คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2492 ลาออกจากกรมศิลปากร และเข้าทำงานที่แผนกช่างเขียน กองโฆษณาการ ธนาคารออมสิน เป็นที่รู้จักในฐานะที่เป็นผู้บุกเบิกงานด้านการออกแบบนิเทศศิลป์
ประสงค์เป็นศิลปินที่มีผลงานโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ มีความหลากหลายทั้งรูปแบบของผลงานและการใช้สี อาทิ ผลงานแบบไทยประยุกต์ ผลงานแบบคิวบิสม์ และผลงานนิเทศศิลป์ ประสงค์สร้างสรรค์ผลงานแบบไทยประยุกต์ โดยการนำภาพจิตรกรรมแบบไทยประเพณีมาสร้างสรรค์ด้วยวิธีการจัดองค์ประกอบแบบสมัยใหม่ นิยมใช้ “ภาพกาก” หรือภาพที่อยู่นอกเหนือจากเรื่องราวหลักในงานจิตรกรรมแบบไทยประเพณี เช่น ภาพวิถีชีวิตของชาวบ้าน มาใช้เป็นหัวข้อหลักในการเขียนภาพ นอกจากนี้ ประสงค์นำเทคนิคของศิลปะแนวคิวบิสม์ (Cubism) มาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานด้วย เช่น ภาพ “เจดีย์วัดโพธิ์” ที่นำเสนอภาพทิวทัศน์แบบไทย โดยใช้เส้นและสีตัดกันไปมาเป็นรูปทรงเรขาคณิตที่ประกอบกันเป็นอาคารและเจดีย์ของวัดโพธิ์ ผลงานมีลักษณะสองมิติ มีการจัดน้ำหนักของสีให้มีความสดใสและสมดุล
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้กล่าวถึงผลงานของประสงค์ไว้ว่า “…ภาพเขียนอันวิจิตนของนายประสงค์ ปัทมานุช แสดงให้เห็นถึงความฉลาดในการจัดโครงสร้างสีให้เข้ากันอย่างสวยงาม นายประสงค์มีความรู้สึกทางสีสูงยิ่ง ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับศิลปโบราณของเราอย่างแท้จริง นายประสงค์เป็นผู้ที่รักศิลปของตน แม้จำต้องทำงานซึ่งไม่ตรงกับอุปนิสัยของตนก็ตาม ก็พยายามส่งงานจิตรกรรมแสดงทุกปี นี่คือการเรียกร้องที่แท้จริงของศิลป และด้วยเหตุนี้เองที่เรากล่าวกันว่าศิลปเพื่อศิลป…”
ประสงค์ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 1 – 6 (พ.ศ. 2492 - 2498) ได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง 2 ครั้ง เกียรตินิยมอันดับ 2 เหรียญเงิน 3 ครั้ง เกียรตินิยมอันดับ 3 เหรียญทองแดง 1 ครั้ง และได้รับการยกย่องเป็นศิลปินชั้นเยี่ยม สาขาทัศนศิลป์ (มัณฑนศิลป์) ในปี 2497
นอกจากนี้ ประสงค์ยังทำงานเกี่ยวกับการซ่อมแซมและบูรณะงานศิลปกรรมของชาติหลายแห่ง รวมทั้งยังแต่งตำราลายไทยและวิธีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง ประสงค์ ปัทมานุช ได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2529 และถึงแก่กรรมด้วยโรคเบาหวาน เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2532 สิริอายุ 71 ปี
ที่มา
1. หนังสือ “5 ทศวรรษศิลปกรรมแห่งชาติ 2492 – 2541” โดย หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
2. หนังสือ “นิทรรศการพิเศษเชิดชูเกียรติศิลปินอาวุโส ประสงค์ ปัทมานุช” โดย กรมศิลปากร
3. หนังสือ “บทความ ข้อเขียน และงานศิลปกรรมของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” โดย หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
4. หนังสือ “ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ประจำปีพุทธศักราช 2528 – 2531” โดย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
Star vote. Star vote. Star vote. Star vote. Star vote.

(จำนวนผู้เข้าชม 3259 ครั้ง)