...

แม่พิมพ์โลหะบนไม้ และการ์ดกระดาษภาพพระพุทธสิหิงค์พร้อมประวัติ

         แม่พิมพ์โลหะบนไม้ และการ์ดกระดาษภาพพระพุทธสิหิงค์พร้อมประวัติ

         ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๙

         โรงพิมพ์พระจันทร์ นายสนั่น ตันบุญยืน ผู้พิมพ์                                    

         ปัจจุบันเก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นำมาจัดแสดงในนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช ๒๕๖๗ เรื่อง “เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม” ระหว่างวันที่ ๒๘ มีนาคม – ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๗ ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

         แม่พิมพ์โลหะ ลักษณะเป็นแผ่นสังกะสี* ตอกยึดด้วยตะปูเข้ากับไม้ที่ถากผิวไว้ แผ่นสังกะสีเป็นภาพพระพุทธสิหิงค์ และด้านล่างมีข้อความแกะเป็นตัวหนังสือกลับด้าน ความว่า 

         “พระพุทธสิหิงค์สร้างที่ลังการาว พ.ศ. ๗๐๐ ประดิษฐานอยู่ที่ลังกาทวีปราว ๑๑๕๐ ปี แล้วเสด็จมาสู่ประเทศสยามในราว พ.ศ.๑๘๕๐ ประดิษฐานอยู่สุโขทัย แล้วย้ายไปประทับ ในเมืองต่าง ๆ คือ

พิษณุโลก ราว พ.ศ. ๑๙๒๐ ประทับอยู่ ๕ ปี

ศรีอยุธยา ราว พ.ศ. ๑๙๒๕ ประทับอยู่ ๕ ปี

กำแพงเพ็ชร์ ราว พ.ศ. ๑๙๓๐ ประทับอยู่ ๑ ปี

เชียงราย ราว พ.ศ. ๑๙๓๑ ประทับอยู่ ๑๙ ปี

เชียงใหม่ ราว พ.ศ. ๑๙๕๐ ประทับอยู่ ๒๔๕ ปี

ศรีอยุธยา ราว พ.ศ. ๒๒๐๕ ประทับอยู่ ๑๐๕ ปี

เชียงใหม่ ราว พ.ศ. ๒๓๑๐ ประทับอยู่ ๒๐ ปี

กรุงเทพฯ ราว พ.ศ. ๒๓๓๐ อยู่จนทุกวันนี้

(พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ)”

         แม่พิมพ์ชิ้นนี้เป็นตัวอย่างการพิมพ์พื้นนูน หรือ ระบบเลตเตอร์เพลส์ (Letterpress Plate)กล่าวคือช่างจะ นำแผ่นโลหะเป็นภาพหรือข้อความติดไว้กับแผ่นไม้ ส่วนที่นูนจะมีเฉพาะข้อความและภาพที่ต้องการพิมพ์ และช่างจะใช้มีดหรือสิ่วถากเนื้อไม้ในส่วนที่ไม่ต้องการพิมพ์ (Nonprinting area) ให้มีระดับต่ำกว่าพื้นที่รองรับหมึก ส่วนที่นูนของโลหะจะรับกับลูกกลิ้งหมึก (Inking roller) และนำไปกด (press) กับกระดาษเกิดเป็นภาพบนกระดาษตามที่ต้องการ

         สำหรับแผ่นสังกะสีในส่วนของภาพพระพุทธสิหิงค์นั้นทำขึ้นเป็นแม่พิมพ์แบบรูปเดี่ยวไม่มีพื้นหลัง หรือOutline Halftone กล่าวคือ การนำฟิล์มเนกาทีฟ (Negative) ภาพพระพุทธสิหิงค์ มาตัดส่วนพื้นหลังออก แล้วจึงอัดลงบนแผ่นสังกะสีที่เคลือบน้ำยาไวแสง จากนั้นจึงใช้น้ำกรดกัดเพื่อให้ได้ภาพตามที่ต้องการ เมื่อบล็อคสมบูรณ์จึงใช้เลื่อยฉลุตัดส่วนที่ไม่ต้องการออกทิ้ง จากนั้นจึงแต่งขอบให้เป็นมุมเฉียง เพื่อง่ายต่อการตอกตะปูลงบนสังกะสีติดกับไม้ที่เป็นส่วนรองรับ โดยต้องตอกให้หัวตะปูแนบสนิทรอบขอบโลหะเพื่อตรึงไว้ ส่วนตัวอักษรด้านล่างภาพพระพุทธสิหิงค์นั้นเป็นเทคนิคการแกะโลหะเป็นรูปตัวอักษรนูนขึ้นมาจากพื้นผิว 

         วิทยาการของการทำภาพพิมพ์บนโลหะนั้นเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ ๑๘๕๐ นับตั้งแต่ ค.ศ.๑๘๕๐ (พ.ศ.๒๓๙๓) Firmin Gillot ได้ประดิษฐ์แม่พิมพ์แบบลายเส้นลงบนแผ่นสังกะสีแล้วใช้กรดไนตริกกัดให้เกิดส่วนเส้นนูนขึ้นบนพื้นผิว อย่างไรก็ตามเทคนิคนี้ไม่ได้ใช้ฝีมือการแกะมิได้ใช้ภาพถ่ายเป็นต้นแบบ ต่อมา ค.ศ. ๑๘๕๒ (พ.ศ. ๒๓๙๕)William Henry fox-Talbot ได้นำเอาเหล็กกล้าที่ฉาบน้ำยาไวแสงมาอัดกับภาพถ่าย แล้วนำไปกัดกับน้ำกรดจนได้เป็นแม่พิมพ์ภาพเหล็กที่มีต้นแบบมาจากภาพถ่ายและใน ค.ศ. ๑๘๕๕ (พ.ศ. ๒๓๙๘) Alphonese Louis Poitevin เป็นผู้คิดค้นการทำบล็อกสังกะสีขึ้นด้วยเทคนิคแบบเดียวกัน และนับจากช่วงเวลาดังกล่าวนี้การพิมพ์ภาพลงบนสื่อสิ่งพิมพ์จึงหันมาพิมพ์ภาพด้วยเทคนิคดังกล่าว กระทั่งในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ (ประมาณช่วงรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) เกิดระบบการพิมพ์บล็อกโลหะแบบ Halftone Block และเป็นที่นิยมแพร่หลายในเวลาต่อมา

         สันนิษฐานว่าการ์ดกระดาษภาพพระพุทธสิหิงค์พร้อมประวัตินี้  เป็นสิ่งพิมพ์ที่กรมศิลปากรจัดพิมพ์ขึ้นแจกจำหน่ายในงานสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ ประจำปี พ.ศ. ๒๔๗๙ โดยด้านหลังพิมพ์ข้อความว่า “ร.พ.พระจันทร์ นายสนั่น ตันบุญยืน ผู้พิมพ์โฆษณา ๑.๑.๗๙” 

 

*สังกะสี นิยมใช้กับงานพิมพ์ที่มีปริมาณน้อย และมีคุณภาพในระดับธรรมดา ต่างจากทองแดงที่เหมาะกับการพิมพ์งานปริมาณมากและมีคุณภาพสูง

 

อ้างอิง

กำธร สถิรกุล. หนังสือและการพิมพ์. กรุงเทพฯ: คุรุสภาลาดพร้าว,๒๕๑๕.

สนั่น ปัทมะทิน. การเรียงพิมพ์. พระนคร: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๑๓.

(จำนวนผู้เข้าชม 31 ครั้ง)


Messenger