...

ศีรษะหุ่นหลวงตัวพระ ตัวนาง

         ศีรษะหุ่นหลวงตัวพระ ตัวนาง

         ศิลปะรัตนโกสินทร์  พุทธศตวรรษที่  ๒๔  (๒๐๐ ปีมาแล้ว)

         ไม้ เขียนสี ทองคำประดับกระจก 

         กรมพิณพาทย์และโขนหลวงส่งมาให้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙

         หุ่นหลวงหรือหุ่นใหญ่ มักนิยมสร้างขนาดความสูงจากระดับศีรษะถึงปลายเท้าตั้งแต่ ๘๕ – ๑๑๐ เซนติเมตร  มีลำตัว แขน ขา และแต่งตัวเช่นเดียวกับละคร  ภายในตัวหุ่นทำสายโยงติดกับอวัยวะของตัวหุ่นและปล่อยเชือกลงมารวมกันที่แกนไม้ส่วนล่างเพื่อใช้ดึงบังคับให้เคลื่อนไหว  หุ่นหลวงหนึ่งตัวใช้ผู้เชิดเพียง ๑ คน การเล่นหุ่นปรากฏหลักฐานมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งนอกจากเล่นเรื่องรามเกียรติ์แล้ว ยังเล่นเรื่องอื่น ๆ อาทิ  พระไชยทัต สังข์ศิลป์ชัย โสวัต ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็มีการเล่นหุ่นสืบมา จนถึงต้นรัชกาลที่ ๕ ก็ยังปรากฏการกล่าวถึงหุ่นไทย ในงานมหรสพสมโภชต่าง ๆ  

         นับแต่พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ ๕  พ.ศ. ๒๔๕๓ โปรดเกล้าฯ ให้งดมหรสพสมโภชประกอบพระเมรุมาศกลางเมือง  จากนั้นก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าหุ่นหลวงได้นำออกแสดงอีก จนถึงพ.ศ. ๒๕๕๙ สำนักการสังคีต กรมศิลปากร จึงจัดสร้างหุ่นหลวงเพื่ออนุรักษ์และพัฒนา และได้นำออกแสดงเป็นมหรสพสมโภชอีกครั้งในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๐  

         สำหรับศีรษะหุ่นหลวงคู่นี้มีความพิเศษกว่าศีรษะหุ่นอื่นด้วยเครื่องศิราภรณ์ที่ตกแต่งบุดุนจากทองคำประดับกระจก ปรากฏตามลายพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ลงวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๔๘๕ เรื่องรัดเกล้าไม่ปรากฏในงานจิตรกรรม มีแต่นางละครกับนางหุ่นที่สวม โดยเนื้อความตอนหนึ่งทรงกล่าวว่า 

         “...ได้เห็นหน้าหุ่นใส่ลุ้งไว้ไม่ได้เอาออกเล่น ว่าเป็นหุ่นครู มีหน้าคู่เป็นพระกับนาง ประดับด้วยเครื่องทองคำทั้งสองหน้า หน้านางใส่รัดเกล้า แต่รัดเกล้านั้นเป็นมาลา (คือ “อุณหิศ” อย่างที่ลิงใส่ มีหนุมานเป็นต้น) เห็นได้ว่าข้างบนว่างจึงเติมชั้นและปักเครื่องใหญ่ ๆ จะว่าเป็นของใหม่ไม่ได้ แต่ทำไมรูปเขียนจึงไม่มี”

 

 

อ้างอิง

กรมศิลปากร. ประณีตศิลป์สยาม ณ หมู่พระวิมาน พระราชวังบวรสถานมงคล. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๖๕.

ไพโรจน์  ทองคำสุก, บรรณาธิการ.  หุ่นหลวง: นาฏลักษณ์วิจิตรอันทรงคุณค่า. นนทบุรี: กรมศิลปากร, ๒๕๕๙.

นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา และ ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. สาส์นสมเด็จ  เล่ม ๒๔.  พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๐๕.

(จำนวนผู้เข้าชม 378 ครั้ง)