...

ศีรษะนางแมว

         ศีรษะนางแมว

         ศิลปะรัตนโกสินทร์ ประมาณ พ.ศ. ๒๔๓๐

         สมบัติของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) เจ้าจอมมารดามรกฎในรัชกาลที่ ๕ มอบให้เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๙

         ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ พระที่นั่งทักษิณาภิมุข หมู่พระวิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

         ศีรษะนางแมว  (หัวโขนนางวิฬาร์) ประดิษฐ์ด้วยโลหะทองแดง ประดับแก้ว โดยลักษณะของนางวิฬาร์ น่าจะตรงกับคุณลักษณะแมวสายพันธุ์โกญจาซึ่งมีขนสีดำละเอียด นัยน์ตาสีดอกบวบ

         ศีรษะนางแมว ใช้สำหรับแสดงละครนอกเรื่อง ไชยเชษฐ์ นิทานพื้นบ้านที่มามาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และมีผู้นำนิทานเรื่องนี้มาเล่นเป็นละครเพราะเรื่องราวที่สนุกสนาน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงนำนิทาน เรื่องไชยเชษฐ์ มาพระราชนิพนธ์เป็นบทละครนอก เดิมละครนอกเป็นละครที่ราษฎรเล่นกัน ผู้ชายแสดงเป็นตัวละครทั้งหมด พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องไชยเชษฐ์ เพื่อให้เป็นบทละครนอกของหลวง และโปรดให้ผู้หญิงที่เป็นละครหลวงแสดงอย่างละครนอก

         หัวโขนนางวิฬาร์นี้ เดิมเป็นของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง ผู้ก่อตั้งคณะละคร และโรงละคร “ปรินซ์เธียร์เตอร์” (Prince Theatre) กระทั่งถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ วันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๗ เครื่องละครส่วนหนึ่งตกเป็นมรดกของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม* ซึ่งเจ้าจอมมารดามรกฎ (ธิดา) ได้นำมาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ ดังปรากฏใน “หนังสือราชการ ปี ๑๑๕ เรื่องศีศะละครที่ส่งไปไว้ในพิพิธภัณฑ์” ระบุรายการเครื่องละครทั้งสิ้น ๑๘ รายการ และหนึ่งในรายการเครื่องละครที่ส่งมาให้แก่ทางพิพิธภัณฑ์คือ “ศีรสะแมว ๑”

         พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสรับสั่งถึงเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค)** ลงวันที่ ๓ ตุลาคม ร.ศ. ๑๑๕ มีข้อความตอนหนึ่งว่า

         “...ด้วยมรกฎ นำชฎาหน้าโขน กระบังหน้า เครื่องลครของเจ้าพระยามหินธรศักดิธำรงมาให้ สำหรับตั้งไว้ในโรงพิพิธภัณฑ์ตามความปรารถนาของพ่อเขา ซึ่งได้สั่งไว้ว่า ถ้าลูกชายเพ็ญ [หมายถึง พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒน์พงศ์] ไม่ได้เล่นลครต่อไปแล้ว อย่าให้ ฃายสิ่งของเหล่านี้แก่ผู้หนึ่งผู้ใด ให้นำมาถวายสำหรับตั้งไว้ในโรงพิพิธภัณฑ์...” 

         ทั้งนี้พระองค์ทรงมีความเห็นว่าควรตั้งไว้ในตู้กระจกอีกด้วย และเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลถึงพระราชกระแสเรื่องตั้งเครื่องละครไว้ในตู้กระจก ความว่า

         “...ในส่วนที่ควรจะมีตู้กระจกนั้น ถ้าท่านผู้ให้ [หมายถึง เจ้าจอมมารดามรกฎ] ส่งมาแต่ชะฎาน่าโขน หรือกระบังน่าเปล่าแล้ว จะได้รับประดับตู้สำหรับมิวเซียมไว้ตู้หนึ่งต่างหาก...”

 

 

*พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๔๑ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ กับเจ้าจอมมารดามรกฎ (ธิดาของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล))

 

** เสนาบดี กระทรวงธรรมการ

 

อ้างอิง

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.๕ บ.๑๑/๑๐. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ ๕ เบ็ดเตล็ด เรื่อง พิพิธภัณฑต่างๆ ในกรุงสยาม (๔ กุมภาพันธ์ ๑๑๑ - ๓ ตุลาคม ๑๑๗).

ไพโรจน์ ทองคำสุก. “แมว: วิฬาร์ในการแสดงละครนอกเรื่องไชยเชษฐ์.” ศิลปากร. ๕๒, ๑ (มกราคม-กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒): ๔-๑๗.

(จำนวนผู้เข้าชม 1323 ครั้ง)