...

มุขลึงค์

          มุขลึงค์

          สมัยศรีวิชัย พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓

          พบที่หลังสถานีหนองหวาย อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี นำมาไว้ในพิพิธภัณฑสถานฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒

          ปัจจุบันจัดแสดง ณ ห้องศรีวิชัย อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

          ศิลาสลักรูปศิวลึงค์ แบ่งออกเป็นสามส่วน ส่วนฐานสลักเป็นฐานสี่เหลี่ยม ส่วนกลางสลักเป็นทรงแปดเหลี่ยม ส่วนยอดสลักเป็นทรงโค้งมน กึ่งกลางส่วนยอดด้านหนึ่งสลักรูปพระเศียรพระศิวะ ทรงรวบพระเกศาขึ้นเป็นชฎามงกุฏ (การเกล้าผมขึ้นเป็นมวยแบบนักบวช) ทัดจันทร์เสี้ยว* กึ่งกลางพระนลาฏมีพระเนตรที่สาม พระเนตรเปิดมองตรง พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เรียบ พระกรรณยาว 

          ศิวลึงค์นี้แสดงสัญลักษณ์ของการรวมเทพเจ้าสามองค์ ได้แก่ ส่วนบนสุดทรงโค้งมนเรียกว่า รุทรภาค หมายถึงพระศิวะ ส่วนกลางทรงแปดเหลี่ยม เรียกว่า วิษณุภาค หมายถึงพระวิษณุ และส่วนล่างทรงสี่เหลี่ยม เรียกว่า พรหมภาค หมายถึงพระพรหม 

          สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นายกราชบัณฑิตยสภา ทรงประทานความเห็นเกี่ยวกับมุขลึงค์ชิ้นนี้ภายหลังจากที่ทอดพระเนตรภาพถ่าย ความตอนหนึ่งว่า

 

“...ได้ตรวจดูรูปสัณฐานที่ปรากฏในฉายาลักษณ ศิวลึงค์อย่างนี้ต้องตำราเรียกว่า “มุขลึงค์” แบบอย่างและฝีมือที่ทำเปนของสมัยศรีวิชัย ประมาณในระวาง พ.ศ. ๑๖๐๐ จน พ.ซศ. ๑๘๐๐ เปนของแปลกดีหายากด้วย สมควรจะเอามารักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร...”

 

          พร้อมทั้งพระองค์มีลายพระหัตถ์ถึง ยัง อำมาตย์ตรี พระสุราษฎร์ธานีฯ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในขณะนั้น เพื่อสอบถามถึงผู้ที่ค้นพบและสถานที่พบ และต่อมาได้รับรายงานว่าผู้ค้นพบคือ หลวงวิชิตภักดี นายอำเภอเขาขาว เป็นผู้ค้นพบและแจ้งเรื่องไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ลงวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๒ โดยความตอนหนึ่งกล่าวว่า 

 

“...ขอเรียนให้ทราบว่า ศิลาศิวะลึงค์องค์นี้ ข้าพเจ้าได้ไปค้นพบที่ปากชาวบ้าน**เรียกว่า วัดเนะ หรือภิเนก อยู่ในตำบลท่าชนะใกล้สถานีหนองหวาย ในท้องที่อำเภอเมืองไชยา ที่ตรงศิวลึงค์ตั้ง ๆ บนแท่นศิลา ๔ เหลี่ยมกว้างยาวขนาด ๑ เมตร์ เมื่อข้าพเจ้าได้พบแล้วจึงได้จัดการพาไปไว้...”

 

 

*มีที่มาจากตำนานว่า พระจันทร์ได้ขอประทับอยู่บนพระเศียรของพระศิวะ หลังจากถูกพระทักษะสาปให้เสื่อมแสง

**หมายถึง คำที่คนในพื้นที่เรียก ซึ่งปัจจุบันคือ วัดพิฆเณศวร (ร้าง)

 

อ้างอิง

เชษฐ์ ติงสัญชลี. ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รูปแบบ พัฒนาการ ความหมาย.พิมพ์ครั้งที่ ๒. นนทบุรี: มิวเซียมเพรส, ๒๕๕๘.

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. (๔)ศธ.๒.๑.๑/๔๗. เอกสารกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ขอให้ส่งมุขลึงค์ ซึ่งขุดพบที่แขวงจังหวัดสุราษฎร์ธานี (๒๑ มีนาคม ๒๔๗๑ - ๑๙ มิ.ย. ๒๔๗๒).

อรุณศักดิ์ กิ่งมณี. ทิพยนิยายจากปราสาทหิน. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๕๕.

 

(จำนวนผู้เข้าชม 1341 ครั้ง)