...

จิตรกรรมพุทธประวัติ ตอน พระพุทธเจ้าทรงลอยถาด

         จิตรกรรมพุทธประวัติ ตอน พระพุทธเจ้าทรงลอยถาด

         ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔

         จิตรกรรมบนพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

          จิตรกรรมสีฝุ่นภาพพระโพธิ์สัตว์ประทับริมฝั่งแม่น้ำ ลอยถาดไปยังวิมานของนาคนามว่าพญากาฬ ซึ่งขดตัวอยู่ในปราสาทและเบื้องหน้ามีพานรองรับถาดของอดีตพุทธเจ้า

         คุณลักษณะอย่างหนึ่งของนาคตามความเชื่อในสังคมไทยนั้น ถือว่าเป็นสัตว์ที่มี “อายุยืนนาน” โดยตำนานต่าง ๆ กล่าวว่านาคเป็นสัตว์ที่มีชีวิตทันเห็นพระพุทธเจ้า หรืออดีตพระพุทธเจ้า อาทิ พุทธประวัติในปฐมสมโพธิกถา กล่าวว่าภายหลังจากพระโพธิสัตว์ทรงรับข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดาแล้ว ทรงนำถาดไปลอยน้ำเพื่อเสี่ยงทายว่า พระองค์จะได้ตรัสรู้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าหรือไม่ เมื่อพระองค์ลอยถาด ปรากฏว่าถาดของพระองค์ได้ลอยทวนน้ำ แล้วจมลงไปยังวิมานของนาคตนหนึ่งนามว่า พญากาฬ ซึ่งเป็นนาคที่ได้รับถาดจากอดีตพุทธเจ้าที่ตรัสรู้แล้วในภัทรกัลป์ก่อนหน้านี้สามพระองค์* ดังข้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า 

 

“....ทรงพระอธิษฐานว่า ถ้าอาตมะจะได้ตรัสเป็นพระบรมโลกนาถ ขอให้ถาดนี้จงเลื่อนลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไป แม้ว่ามิได้สำเร็จประสงค์ ก็จงลอยล่องไปตามกระแสชลไหล แล้วก็ทรงลอยถาดลงในอุทกธารา ขณะนั้นอันว่าถาดทองเหมือนดังมีเจตนาจะแสดงซึ่งนิมิตแก่พระโพธิ์สัตว์ อันจะได้ตรัสรู้แก่พระสัพพัญญุตญาณ ก็บันดาลดุจสุวรรณวิหกหงส์ลงเล่นสินธุวารี เลื่อนลอยทวนกระแสชลนทีขึ้นไปไกลประมาณ ๘๐ ศอก ถึงที่วนแห่งหนึ่งก็จมลงตรงเบื้องบนภพพิมานแห่งพญากาฬนาคราช กระทบกับถาดอันเป็นพุทธบริโภคแห่งพระสัพพัญญูทั้ง ๓ ในอดีต...”

 

          ดังนั้นพญากาฬนาค จึงเป็นพญานาคที่มีชีวิตยืนยาวตั้งแต่พระพุทธเจ้าองค์แรก นอกจากนี้วรรณกรรมพุทธศาสนาหลายเรื่องที่แพร่หลายในสังคมไทย มักจะแสดงให้เห็นว่า “นาค” เป็นสัตว์อายุยืนในกัลป์ปัจจุบัน อาทิ วรรณกรรมเรื่องไตรภูมิกถา พระราชนิพนธ์ของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) กล่าวว่านาคเป็นบริวารของท้าววิฬุปักษ์ จตุโลกบาลรักษาทิศตะวันตก บนชั้นสวรรค์จตุมหาราชิกา มีอายุ ๕๐๐ ปีทิพย์หรือเท่ากับ ๙ ล้านปีของมนุษย์ 

 

           ในนิทานพระพุทธสิหิงค์ แต่งโดย พระโพธิรังสี ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ช่วงต้นเรื่องกล่าวถึงที่มาของรูปแบบพระพุทธสิหิงค์ว่า เกิดขึ้นภายหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ๗๐๐ ปี กษัตริย์เมืองสีหล (ลังกา) มีพระประสงค์อยากเห็นรูปกายพระพุทธเจ้าว่าเป็นอย่างไร จึงได้ตรัสถามกับบรรดาพระอรหันต์ในที่ประชุม ขณะนั้นมีนาคตนหนึ่งอยู่ในที่ประชุมได้อาสาแปลงกายเป็นพระพุทธเจ้าให้กษัตริย์ได้ทอดพระเนตร ดังความในนิทานกล่าวว่า

 

“...ครั้งนั้น พญานาคตนหนึ่ง มาในที่ประชุมนั้น ได้ฟังพระราชากับพระเถระสนทนากัน จึงพูดขึ้นว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระสัมพุทธนั้นข้าพเจ้าเคยเห็น ถ้าพระผู้เป็นเจ้าใคร่จะเห็นพระสัมพุทธ โปรดจัดสถานที่ขึ้นสักแห่งหนึ่ง ข้าพเจ้าจะแสดงรูปของพระพุทธให้ดู แต่ถ้าเห็นรูปนี้เหมือนพระพุทธแล้วขอพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายอย่าได้ไหว้ข้าพเจ้าเลย รูปสกปรก ไม่ควรไหว้...”

 

         นอกจากนี้ตำนานการสร้างพระพุทธรูป พระเจ้าตนหลวง วัดศรีโคมคำ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา มีเรื่องราวที่เกี่ยวกับนาคด้วยเช่นกัน กล่าวคือ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จถึงเมืองภูกามยาว (พะเยา) ทรงให้พระอานนท์ไปตักน้ำที่สระหนองเอี้ยง ขณะที่พระอานนท์กำลังจะตักน้ำ มีพญานาคตนหนึ่งออกมาขู่ด้วยการพ่นควันพิษและแผ่พังพาน ไม่ให้พระอานนท์ตักน้ำ พระพุทธเจ้าทราบความจึงเสด็จมาโปรดพญานาค ด้วยการแสดงปาฏิหาริย์แปลงเป็นพระพุทธเจ้ากกุสันธะ มีความสูง ๓๒ ศอก พญานาคเห็นเกิดความเลื่อมใส ยอมให้พระอานนท์ตักน้ำไปถวายแด่พระองค์ พระพุทธเจ้ายังมีรับสั่งแก่พญานาคว่า ต่อไปหลังจากพระองค์ปรินิพพานไป ให้สร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่สูง ๓๒ ศอกไว้ 

 

         ครั้นเวลาผ่านไป ๒๐๓๐ ปี พญานาคนึกถึงพระดำรัสของพระพุทธเจ้า จึงได้ขึ้นไปบอกแก่สองตายายที่อาศัยอยู่ใกล้ ๆ กับสระหนองเอี้ยง พร้อมทั้งมอบทองคำสำหรับใช้ในการก่อสร้าง สองตายายจึงได้ว่าจ้างให้ชาวเมืองมาช่วยการสร้างพระพุทธรูปขึ้น เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ พระเมืองตู้ เจ้าเมืองพะเยาได้ส่งพระราชสาส์นถึงพระเมืองแก้ว เจ้าเมืองเชียงใหม่ แจ้งเรื่องการก่อสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ พระเมืองแก้วทรงมีพระราชศรัทธาจึงพระราชทานทองคำ ๒ พัน เงิน ๖ พัน สำหรับก่อสร้างวิหาร และพระราชทานชื่อว่า พระเจ้าตนหลวง ทุ่งเอี้ยง เมืองพะยาว กระทั่งใน พ.ศ. ๒๐๖๙ จึงได้ฉลองสมโภชพระพุทธรูปองค์นี้ 

 

 

*ได้แก่ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ และพระกัสสปะ 

 

อ้างอิง

ปรมานุชิตชิโนรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระ. ปฐมสมโพธิกถา. กรุงเทพฯ: กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๓๐. (รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จัดพิมพ์ทูลเกล้าฯ ถวายสนองพระมหากรุณาธิคุณในมหามงคลเฉลิมพระเกียรติวันพระบรมราชสมภพครบ ๒๐๐ ปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วันอังคารที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๐).

ศานติ ภักดีคำ. นาค. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๕๖.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. นาคมาจากไหน ?. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ: นาตาแฮก, ๒๕๖๕.

 

 

(จำนวนผู้เข้าชม 1558 ครั้ง)