...

เถาะนักษัตร
องค์ความรู้ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
เรื่อง เถาะนักษัตร
วันขึ้นปีใหม่ในประเทศไทยนั้น แต่เดิมนับวันแรม ๑ ค่ำ เดือนอ้ายเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามระบบการนับวันเวลาแบบจันทรคติ ต่อมา พ.ศ. ๒๔๓๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงเปลี่ยนให้วันขึ้นปีใหม่ของไทยเป็นวันที่ ๑ เมษายน เนื่องจากระบบการนับจันทรคติไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ในขณะนั้นมีการติดต่อกับต่างประเทศมากขึ้น ดังความตอนหนึ่งในลายพระหัตถ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า
“...พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริห์ว่าประดิทินที่ใช้กันในโลก ประเทศทั้งปวงรับใช้ประดิทินสุริยคติอย่างฝรั่งมากขึ้นทุกที่ ประดิทินทางจันทรคติมีที่ใช้น้อยลง ต่อไปวันน่าโลกคงจะใช้ประดิทินสุริยคติด้วยกันหมด ควรจะเปลี่ยนประดิทินไทยไปใช้สุริยคติเสียทีเดียว...” [สะกดตามข้อความต้นฉบับ]
ต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๓ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ เป็นวันที่ ๑ มกราคม โดยเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นต้นมา* และยังคงนับเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
คติการนับปีตามนักษัตรของไทยนั้นสันนิษฐานว่ารับอิทธิพลจากจีนที่ไทยรับผ่านวัฒนธรรมเขมร โดยปรากฏหลักฐานอย่างน้อยสมัยสุโขทัย ข้อความตอนหนึ่งในศิลาจารึกหลักที่ ๑ พ่อขุนรามคำแหง อักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย ด้านที่ ๓ บรรทัดที่ ๑๐ กล่าวว่า “...[มหาศักราช] ๑๒๑๔ [ตรงกับ พ.ศ. ๑๘๓๕] ศกปีมะโรงพ่อขุนรามคำแหง...” รวมถึงบ้านเมืองที่ร่วมสมัยกันโดยเฉพาะดินแดนล้านนา พบการกล่าวถึงชื่อนักษัตรด้วยเช่นกัน อาทิ จารึกวัดพระยืน (ลพ. ๓๘) อักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย จุลศักราช ๗๓๒ [ตรงกับ พ.ศ. ๑๙๑๓] ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๒๐ กล่าวว่า “...เมื่อท่านเป็นเจ้ามานั้นในปีระกา เดือนเจียง...” และจารึกกษัตริย์ราชวงศ์มังราย (พะเยา) (ลพ.๙) อักษรฝักขาม ภาษาไทย พ.ศ. ๑๙๕๔ ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๑๘ ปรากฏคำว่า “ปีมะแม”
อีกทั้งในวัฒนธรรมล้านนามีคำในภาษาตระกูลไทเกี่ยวกับ ๑๒ นักษัตร เช่น ไจ้ (ชวด) เป้า (ฉลู) ยี่ (ขาล)... ฯลฯ และพบชื่อนักษัตรเหล่านี้ได้ตามจารึกในล้านนาหลายหลัก บางครั้งพบการนับปีนักษัตรทั้งแบบอิทธิพลเขมรและวันแบบไท เช่น จารึกหลักที่ ๓๘ จารึกกฎหมายลักษณะโจร อักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๑ กล่าวว่า “...ศกฉลูนักษัตรไพสาขปุรณมีพฤหัสบดี...”
อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนปีนักษัตรในทางโหรศาสตร์นั้นจะเปลี่ยนในดิถีขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ เป็นวาระเปลี่ยนปีนักษัตรตามปฏิทินโหราศาสตร์ที่นับวันแบบจันทรคติ ซึ่งเป็นวิธีคิดของศาสนาพราหมณ์จากอินเดียระบุให้วันขึ้นปีใหม่เป็นเดือน ๕ จึงทำให้โหรเริ่มนับปีนักษัตรใหม่ที่เดือน ๕ ด้วยเช่นกัน ขณะที่การบันทึกปีนักษัตรลงในใบสูติบัตร และเอกสารทะเบียนราษฎร์นั้น กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จะบันทึกตามปฏิทินหลวงที่นับวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันเปลี่ยนปีนักษัตรใหม่ และวันสุดท้ายของปีนักษัตรคือวันแรม ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒
สำหรับ พ.ศ. ๒๕๖๖** นี้ ตรงกับปีนักษัตร เถาะหรือกระต่าย เป็นสัตว์สัญลักษณ์ลำดับที่สี่ในบรรดาสัตว์ทั้ง ๑๒ ของรอบปีนักษัตร กระต่ายเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของพระจันทร์ ดังปรากฏในวรรณกรรมทางพุทธศาสนาเรื่องไตรภูมิพระร่วง ของพญาลิไท (พระมหาธรรมราชาที่ ๑) กล่าวว่าบนพระจันทร์มีรูปกระต่าย หรือ อรรถกถา “สสปัณฑิตชาดก” มีเรื่องย่อว่า พระโพธิสัตว์เกิดเป็นกระต่าย มีความตั้งใจรักษาศีลและให้ทาน ท้าวสักกะ (พระอินทร์) ได้แปลงเป็นนายพรานมาทดสอบจิตใจด้วยการขออาหาร ซึ่งพระโพธิ์สัตว์แสดงการให้ทานด้วยการกระโดดเข้ากองไฟเพื่อให้ตนเป็นอาหารแก่นายพราน แต่ไฟมิอาจทำอันตรายใดได้ นายพรานจึงบอกความจริงและสรรเสริญพระโพธิ์สัตว์พร้อมทั้งเขียนรูปกระต่ายไว้บนดวงจันทร์เพื่อเป็นที่ระลึกแก่คุณความดีที่พระองค์พร้อมสละตนเป็นทานแก่สรรพสัตว์
ครั้นสมัยรัชกาลที่ ๓ บันทึกของบาทหลวงปาลเลกัวซ์ (Pallegoix) ระบุว่าคนไทยถือว่ากระต่ายเป็นสัตว์เจ้าปัญญาและเจ้าเล่ห์ นิทานหลายเรื่องล้วนกล่าวถึงกระต่ายมีลักษณะปราดเปรียวและฉลาดเหนือสัตว์อื่น รวมทั้งจุดในดวงจันทร์ก็มองว่าเป็นรูปกระต่ายด้วย ดังนั้นกระต่ายในทรรศนะของคนโบราณจึงมองว่าสัมพันธ์กับดวงจันทร์ (แม้กระทั่งสำนวนไทยยังมีคำว่า กระต่ายหมายจันทร์ ซึ่งหมายถึง ผู้ชายหมายปองผู้หญิงมีฐานะดีกว่า ) และอุปนิสัยของกระต่ายนั้นเป็นสัตว์ที่อยู่ตามพื้นดิน มีความคล่องแคล่ว ว่องไว ดังเช่น คำพรรณนาในกาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง พระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศ แต่งขึ้นในคราวพระองค์ตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศไปทรงนมัสการรอยพระพุทธบาทสระบุรี ความตอนหนึ่งกล่าวว่า
๏ กระต่ายหลายพงศ์พรรค์ เต้นชมจันทร์หันตัวตาม
ซ่อนซุ้มชุมเหลือหลาม ยามออกเล่นเต้นชมกัน ฯ
๏ กระต่ายหลายพวกพ้อง พรรค์งาม
ชมชื่นแสงจันทร์ตาม ไล่เหล้น
ซ่อนซุ้มชุมเหลือหลาม หลายเหล่า
ยามเมื่อออกเล่นเต้น โลดเลี้ยวชมกัน ฯ
และในโคลง “สัตวาภิธาน” แต่งโดยพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ (สมัยรัชกาลที่ ๕) ระบุถึงชื่อสัตว์จำพวกต่าง ๆ ความตอนหนึ่งกล่าวว่า
๏ กระต่ายออกเต้นตามพง ฟุบแฝงกอปรง
กระโดดแลโลดลำภอง
นอกจากนี้กระต่ายยังเป็นสัตว์เลี้ยงของราชสำนักมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จากหลักฐาน “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม” กล่าวว่าบริเวณตำหนักคูหาสวรรค์เป็นสวนกระต่าย ดังข้อความกล่าวว่า “...มีพระตำหนักห้าห้อง ฝาเขียนทองพื้นลงรักอยู่ในกลางสวนกระต่าย ๑ มีประตูเข้าไปพระตำหนักตึกใหญ่ ผนังนอกทาแดง ชื่อพระตำหนักโคหาสวรรค์ ๑ พระตำหนักนี้เปนที่ประทับของสมเดจพระพรรวษาใหญ่ ซึ่งเปนพระราชเทวีสมเดจพระนารายน์แต่ก่อนมา ครั้นภายหลังมาเปนพระคลังฝ่ายใน...”
แม้กระทั่งในสมัยรัตนโกสินทร์ บริเวณวัดบวรสถานสุทธาวาสในเขตฝ่ายกรมพระราชวังบวรสถานมงคล แต่เดิมเป็นวัดหลวงชี*** สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ ๒ โปรดให้ทำเป็นสวนกระต่าย ดังข้อความใน “ตำนานวังหน้า” ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความตอนหนึ่งกล่าวว่า
“...ที่วัดหลวงชี ครั้งรัชกาลที่ ๑ ทำนองจะไม่มีหลวงชีอยู่ดังแต่ก่อน กุฏิหลวงชีร้างชำรุดทรุดโทรม จึงโปรดให้รื้อกุฏิหลวงชีเสียหมด ทำที่นั้นเป็นสวนเลี้ยงกระต่าย เข้าใจว่าที่ตรงนี้แต่เดิมก็เห็นจะเป็นสวนเลี้ยงกระต่าย เอาอย่างพระราชวังหลวงที่กรุงศรีอยุธยาจึงปรากฏว่ามีตำหนักอยู่ในนั้น...”
*ดังนั้น พ.ศ. ๒๔๘๓ จึงมีระยะเวลา ๙ เดือนนับตั้งแต่เดือนเมษายน-ธันวาคม
**ตรงกับ ปีเบญจศก จุลศักราช ๑๓๘๕ และ รัตนโกสินทร์ศก ๒๔๒
***หลวงชีในที่นี้หมายถึง นางชีนามว่า “นางแม้น” มารดาของนักองค์อี (ซึ่งเป็นพระราชธิดาสมเด็จพระเจ้าอุไทยราชาแห่งกัมพูชา และเป็นพระสนมของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท)
อ้างอิง
กรมศิลปากร. ไตรภูมิกถา หรือ ไตรภูมิพระร่วง พระราชนิพนธ์พระมหาธรรมราชาที่ ๑ พญาลิไทย ฉบับ ตรวจสอบชำระใหม่. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๒๖.
กรมศิลปากร. นามพรรณพฤกษา สัตวาภิธาน และ นิติสารสาธก. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและ ประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๖๕.
กรมศิลปากร. ปฏิทินหลวงพระราชทานกับการกำหนดปีนักษัตรของไทย. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๑ มกราคม ๒๕๖๖, จาก: https://www.finearts.go.th/literatureandhistory/view/22641-ปฏิทินหลวง พระราชทานกับการกำหนดปีนักษัตรของไทย
คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง. กรุงเทพฯ: คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๓๔.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ตำนานวังหน้า. พิมพ์ครั้งที่ ๘. กรุงเทพฯ: แสงดาว, ๒๕๕๓.
ส. พลายน้อย (นามแฝง). สิบสองนักษัตร. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๔๗.
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สบ.๒.๑๙/๔. เอกสารส่วนพระองค์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. เรื่อง วินิจฉัย จุลศักราช รัตนโกสินทร์ศก (๑๙ พ.ย. ๒๔๖๖).
บทความโดย นาย พนมกร นวเสลา ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
Star vote. Star vote. Star vote. Star vote. Star vote.

(จำนวนผู้เข้าชม 1581 ครั้ง)


Messenger