...

คันทวยพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ : เอกลักษณ์สถาปัตยกรรมวังหน้า สมัยรัชกาลที่ ๑

       คันทวยพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ : เอกลักษณ์สถาปัตยกรรมวังหน้า สมัยรัชกาลที่ ๑

       พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เป็นหนึ่งในอาคารของพระราชวังบวรสถานมงคลซึ่งสร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. ๒๓๓๒ (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ขณะนั้นสมเด็จกรมพระราชวังบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) มีพระประสงค์สร้างขึ้นสำหรับประกอบการพระราชพิธีต่าง ๆ เช่นเดียวกับพระมหาปราสาทในวังหลวง ภายหลังพระองค์อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากเมืองเชียงใหม่ลงมายังกรุงเทพฯ จึงทรงอุทิศพระที่นั่งองค์นี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ และขนานนามว่า “พระที่นั่งพุทธาสวรรย์”* หมายถึงที่ประทับของพระพุทธเจ้า (บางเอกสารออกนามว่า “พระที่นั่งสุทธาสวรรย์”)

      ด้วยฐานานุศักดิ์ของพระมหาอุปราช รูปแบบงานสถาปัตยกรรมในพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) จึงมีรายละเอียดที่แตกต่างจากวังหลวง อาทิ การมุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผาไม่เคลือบ การประดับรวยระกาที่ไม่มีนาคสะดุ้ง บัวหัวเสาเป็นบัวกลม ในขณะที่ช่างวังหลวงจะทำเป็นบัวแวง (บัวกลีบยาว) และแม้ว่าพระราชวังบวรสถานมงคลจะได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๓ แต่เอกลักษณ์ฝีมืองานช่างวังหน้าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ยังคงหลงเหลืออยู่มาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะคันทวยซึ่งมีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของสกุลช่างวังหน้าสมัยรัชกาลที่ ๑ อย่างแท้จริง

       คันทวย** ที่ประดับ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์เป็นงานไม้จำหลักลายปิดทองประดับกระจกสี เป็นรูปนาคห้อยเศียรลง มีลายเครือวัลย์ลักษณะเป็นเถาเลื้อย พันเกี่ยวเป็นจังหวะตลอดทั้งคันทวย รูปแบบคันทวยดังกล่าวนี้พบตามพระอารามบางแห่งที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ อาทิ พระอุโบสถ พระวิหาร และมณฑปวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์  พระอุโบสถ วัดชนะสงคราม กรุงเทพฯ และ พระอุโบสถ วัดสุวรรณดาราราม พระนครศรีอยุธยา 

       *ในสมัยรัชกาลที่ ๔ โปรดให้มีการเปลี่ยนชื่อพระที่นั่งองค์นี้จากพระที่นั่งพุทธาสวรรย์ เป็นพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ (อ่านรายละเอียดได้ใน : ประกาศรัชกาลที่ ๔ เรื่อง ประกาศนามพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ แลพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ กับ ประกาศให้เรียกชื่อพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ว่าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ พระที่นั่งพุทธาสวรรย์ให้เรียกว่าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ )

       **“คันทวย” ตามความหมายพจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ระบุว่า โครงสร้างอาคารทรงไทย เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลา การเปรียญ ปราสาทราชวัง สถานที่ราชการบางแห่ง คันทวยทำหน้าที่ค้ำยันใต้เต้า (ส่วนที่ยื่นออกจากปลายของผนัง เสาเก็จ หรือเสาราย) ที่ชายคากับผนังเสาดั้งเท้าแขน มีการแกะสลักเป็นรูปนาค ยักษ์ ลิง ครุฑ ฯลฯ เรียกชื่อตามแบบอย่างและท้องถิ่นที่แตกต่างกัน เช่น ทวยตั๊กแตน นาคตัน, ทวย ก็เรียก

 

อ้างอิง

กรมศิลปากร. พระราชวังบวรสถานมงคล. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๕๖.

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรม อักษร ก-ช ฉบับราชบั

(จำนวนผู้เข้าชม 452 ครั้ง)