สร้อยลูกปัดหินกึ่งมีค่า
สร้อยลูกปัดหินกึ่งมีค่า
สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ประมาณ ๑,๗๐๐-๒,๓๐๐ ปีมาแล้ว
ได้จากนักเรียนโรงเรียนวัดสาลวนราม ตำบลดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๙
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ ห้องก่อนประวัติศาสตร์ อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
สร้อยลูกปัดหินคาร์เนเลียน (Carnelian) ทั้งแบบกลม และแบบห้าเหลี่ยม กับลูกปัดหินอาเกต (Agate) ลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอกตกแต่งด้วยลายเส้นสีขาว* (Etched bead) กลางสร้อยเป็นจี้หินอาเกต
การพบสร้อยเครื่องประดับดังกล่าว สะท้อนความสำคัญได้หลายประการ กล่าวคือ ประการแรก พัฒนาการของชุมชนบ้านดอนตาเพชรยุคเหล็กมีการติดต่อแลกเปลี่ยนทำการค้ากับชุมชนโบราณจากทางอินเดีย อาจเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างทรัพยากรในพื้นที่กับของมีค่าจากต่างพื้นที่ (นอกจากนี้หลุมฝังศพบางหลุมพบร่องรอยของเศษผ้าไหมซึ่งน่าจะนำเข้ามาจากจีน) ประการที่สอง เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงสถานะทางสังคมของผู้สวมใส่ ผู้ครอบครอง เนื่องจากลูกปัดดังกล่าวเป็นของที่ทำขึ้นจากวัสดุหายาก ประการที่สาม การพบลูกปัดในหลุมฝังศพยังสะท้อนถึงระบบความเชื่อเกี่ยวกับการอุทิศข้าวของเครื่องใช้แก่ผู้วายชนม์ เพื่อนำติดตัวไปยังภพภูมิหลังความตาย
ลูกปัดหินคาร์เนเลียนและลูกปัดหินอาเกต เป็นตัวอย่างของโบราณวัตถุที่สะท้อนว่า ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชรช่วงยุคเหล็ก มีการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนต่างพื้นที่ โดยเฉพาะกับชุมชนโบราณในอินเดีย ซึ่งมีหลักฐานว่าแหล่งโบราณคดีบางแห่งปรากฏร่องรอยการเป็นแหล่งผลิตลูกปัดหินสี เช่น ที่เมืองอริกาเมดุ (Arikamedu) เมืองท่าชายฝั่งตะวันออกของอินเดีย* เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุชิ้นอื่น ๆ ที่เชื่อว่าน่าจะนำเข้ามาจากอินเดียเช่นกัน อาทิ จี้รูปสิงโตทำจากหินคาร์เนเลียน ชิ้นส่วนภาชนะสัมฤทธิ์ทรงขันมีลวดลายรูปสตรีแต่งกายอย่างชาวอินเดีย ชิ้นส่วนสัมฤทธิ์รูปนกยูง เป็นต้น
*การฝังเส้นสีขาว ด้วยวิธีขูดผิวลูกปัดให้เป็นร่องแล้วแต้มสีขาวลงไป โดยใช้ด่างโปแตสผสมน้ำตะกั่วขาว และน้ำจากต้นไม้ชนิดหนึ่งชื่อ กิราร (Kair tree : Capparis decidua) ในประเทศอินเดียและนำไปเผาไฟเพื่อให้สีติดแน่น
**อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากการนำเข้าลูกปัดจากอินเดียแล้ว ในแหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชรยังพบลูกปัดแก้วที่มีส่วนผสมของแร่โพแทสเซียม (potassium) สูงเป็นจำนวนมาก (เช่นเดียวกับลูกปัดแก้วที่พบในแหล่งโบราณคดีร่วมสมัยกันในพื้นที่ประเทศไทยและเวียดนาม) ซึ่งต่างจากลูกปัดแก้วที่ทำขึ้นในอินเดีย ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่าชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้น่าจะมีการผลิตลูกปัดแก้วขึ้นเองในพื้นที่อีกด้วย
สำหรับที่บ้านดอนตาเพชรมีตัวอย่างสำคัญคือ แก้วทรงลูกน้ำ (comma-shaped) ลักษณะโปร่งแสง ไม่มีสี (จัดแสดงอยู่ ณ ห้องก่อนประวัติศาสตร์ อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร) เป็นรูปแบบที่ไม่พบในอินเดียจึงสันนิษฐานว่าเป็นของที่ผลิตขึ้นในท้องถิ่นโดยการนำเศษแก้วมาหลอมขึ้นเอง
อ้างอิง
กรมศิลปากร. จากบ้านสู่เมือง: รัฐแรกเริ่มบนแผ่นดินไทย. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๖๑.
ผุสดี รอดเจริญ. ความรู้เรื่องลูกปัดแก้วในงานโบราณคดีไทย. กรุงเทพฯ: ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๙.
พรชัย สุจิตต์. ลูกปัดในอดีต-ปัจุบัน. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๔๖.
(จำนวนผู้เข้าชม 2998 ครั้ง)