...

พัดรองพระราชลัญจกรสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มหาจักรีบรมราชวงศ์
พัดรองพระราชลัญจกรสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มหาจักรีบรมราชวงศ์
สมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๓๘
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ พระที่นั่งพรหมเมศธาดา (ชั้นบน) หมู่พระวิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
_____________________________________
พัดหน้านาง ทำด้วยแพรสีแดง ตรงกลางปักดิ้นและไหมรูปตรีศูลอยู่กึ่งกลางจักร ภายในจักรปักพื้นสีเหลือง มีพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ ๑-๕ ได้แก่ อุณาโลมเปล่งรัศมี ครุฑยุดนาค ปราสาท มงกุฎ และจุลมงกุฎ บนจักรปักคาถาภาษิตว่า “ติรัเต็นสกรัฏ์เฐจ สัม์พํเสจมมายนํ สกราโชชุจิต์ตัญ์จ สกรัฏ์ฐาภิวัฑ์ฒนํ” แปลได้ความว่า “ความรักใคร่ในพระรัตนตรัย แลรัฐของตนแลวงศ์ของตน อนึ่งจิตซื่อตรงในพระราชาของตน เป็นเครื่องเจริญยิ่งแห่งรัฐของตน หรือเป็นเครื่องทำให้รัฐแห่งตนเจริญยิ่ง”
.
ด้านล่างรูปปักสายสะพายเป็นแถบแพรสีเหลืองผูกเป็นโบว์ ขอบพัดปักข้อความว่า “พระราชลัญจกร สำหรับเครื่องราชอิศริยยศ อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่ง ตรามหาจักรีบรมราชวงศ์” นมพัดรูปพุ่มข้าวบิณฑ์ปักรูปอัษฎาวุธ*
.
พัดรองพระราชลัญจกรสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มหาจักรีบรมราชวงศ์เล่มนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้สร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่พระองค์ทรงครองราชสมบัติครบหนึ่งหมื่นวัน ในวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๘ โดยลวดลายบนพัดรองมีต้นแบบมาจาก “พระราชลัญจกรสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มหาจักรีบรมราชวงศ์”
.
พระราชลัญจกรนี้ยังมีรูปลักษณะเช่นเดียวกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มหาจักรีบรมราชวงศ์ สำหรับเจ้าพนักงานตำแหน่งลัญจกราภิบาล (รูปที่ ๒) ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงสถาปนาเมื่อวันศุกร์ เดือน ๖ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช ๑๒๔๔ (วันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๒๕) ในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งนี้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งลัญจกราภิบาล** จะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดังกล่าว เช่น เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เป็นต้น (รูปที่ ๓)
.
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้สถาปนาขึ้นเพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ เชิดชูพระกฤษฎาภินิหารเฉลิมพระเกียรติยศพระนามมหาจักรีบรมราชวงศ์ และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์ในราชวงศ์จักรี ซึ่งประดิษฐานมหาจักรีบรมราชวงศ์มาครบ ๑๐๐ ปี
.
.
.
*อัษฎาวุธ เป็นตรารูปเครื่องอาวุธ พิชัยสงคราม ๘ อย่างไขว้กัน
.
**ตำแหน่งลัญจกราภิบาล ตามมาตราที่ ๑๖ ของ “พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงษ์” กล่าวว่า บุคคลที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ รวมทั้งเรียบเรียงข้อพระราชบัญญัติ และคำประกาศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์
.
.
.
อ้างอิง
ณัฏฐภัทร จันทวิช. ตาลปัตรพัดยศ ศิลปบนศาสนวัตถุ. กรุงเทพฯ: ริเวอร์ บุ๊คส์, ๒๕๓๘.
.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. ตำนานเครื่องราชอิศริยาภรณ์สยาม. พิมพ์ครั้งที่ ๒. (นนทบุรี: มติชนปากเกร็ด, ๒๕๕๘. (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จัดพิมพ์เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในโอกาสฉลองพระชนมายุ ๕ รอบ ๒ เมษายน ๒๕๕๘).
.
“พระราชบัญญัติสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงษ์.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม ๑๑ ตอนที่ ๑๘. (วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๓๔๗): ๑๐๗-๑๒๔.
Star vote. Star vote. Star vote. Star vote. Star vote.

(จำนวนผู้เข้าชม 1111 ครั้ง)


Messenger