...

งาช้างจำหลักรูปพระนางทุรคาปราบมหิษาสูร

         

         ศิลปะอินเดีย พุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕

         เป็นสมบัติเดิมของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

         ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ พระที่นั่งวสันตพิมาน หมู่พระวิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

         งาช้างจำหลักรูปพระนางทุรคาสิบกรในอิริยาบถทรงยืนบนสิงห์กำลังปราบมหิษาสูรอยู่ภายในอาคาร พระกรซ้ายล่างจับผมของมหิษาสูร ส่วนพระกรที่เหลือทรงอาวุธต่าง ๆ กรอบวงโค้งด้านบนจำหลักภาพบุคคลขี่สัตว์กำลังต่อสู้กันและอาคารประดับยอดโดม ด้านซ้ายจำหลักรูปพระคเณศสี่กรประทับนั่งห้อยพระบาท พระศอทรงสร้อยลูกประคำ พระกรทั้งสี่ทรงทองพระกร นุ่งผ้าโธตียาวจรดพระบาท ข้อพระบาททรงทองพระบาท ด้านขวาจำหลักรูปสกันทกุมารสองกร (หรือขันทกุมาร) ประทับเหนือนกยูง พระศอทรงสร้อยลูกประคำ นุ่งผ้าโธตียาว ทรงรองพระบาท

        เรื่องราวของพระนางทุรคาปราบมหิษาสูร มีที่มาจากเนื้อหาคัมภีร์ในศาสนาพราหมณ์หลายฉบับ อาทิ คัมภีร์สกันทปุระ คัมภีร์วราหปุระ คัมภีร์วามนปุราณะ และคัมภีร์มารกัณเฑยปุราณะ แต่ละฉบับมีรายละเอียดของเหตุการณ์การปราบมหิษาสูรที่แตกต่างกันออกไปแต่ใจความที่เหมือนกันคือ มหิษาสูร เป็นอสูรที่มีฤทธิ์มาก เหล่าเทวดามิอาจต่อกรได้ ฝ่ายเทพเจ้าได้ส่งพระนางทุรคาผู้มีฤทธิ์เหนือเทพทั้งปวงไปปราบอสูรโดยมอบอาวุธต่าง ๆ ให้ กระทั่งพระนางทุรคาสามารถสังหารมหิษาสูรได้ในที่สุด

         ชัยชนะของพระนางทุรคาเป็นที่มาของวัน “วิชัยทศมี” (Vijayadashami) หรือดุสเซราห์ (Dussehra) ที่จัดขึ้นในวันที่สิบของเทศกาลบูชาพระนางทุรคา โดยจัดต่อเนื่องเป็นเวลาเก้าวันในช่วงเดือนตุลาคม ในพื้นที่อินเดียตอนเหนือยังถือว่า วันวิชัยทศมี เป็นวันที่พระรามสามารถสังหารทศกัณฐ์ (หรือราวัณในเรื่องรามายณะ) ภายหลังจากที่รบกันมาเป็นเวลาเก้าวัน สำหรับปีพุทธศักราช ๒๕๖๔ วันวิชัยทศมีตรงกับวันที่ ๑๕ ตุลาคม

 

อ้างอิง

อรุณศักดิ์ กิ่งมณี. ตรีมูรติ อภิมหาเทพของฮินดู. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๔๑.

บำรุง คำเอก. “การเฉลิมฉลองเทศกาลทุรคาบูชา”. ดำรงวิชาการ ๙, ๒ (มิถุนายน-ธันวาคม ๒๕๕๓) : ๑๒๐-๑๓๔.

(จำนวนผู้เข้าชม 616 ครั้ง)


Messenger