...

ผ้ากราบพระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษก พ.ศ. ๒๔๕๓

 

     สมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๕๓

     ผ้าแพร กว้าง ๖๙ เซนติเมตร ยาว ๑๑๔ เซนติเมตร

      ผ้าแพรพื้นเหลือง พิมม์สีแดงตราเพชรลูกเปล่งรัศมีภายใต้เศวตฉัตร ๕ ชั้น ภายใต้มีข้อความ “มหาสมณุตมาภิเษก พ,ศ,๒๔๕๓” ปรากฏตามลายพระหัตถ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทูลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพศาสตรศุภกิจ ลงวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๒๙ (พ.ศ. ๒๔๕๓) ความตอนหนึ่งว่า

“...ผ้ากราบนั้น ถ้าโปรดพิมพ์ประทานเสร็จด้วยทีเดียวก็ยิ่งดี ใช้พิมพ์สีแดง ส่วนผ้านั้น ถ้าทรงหาทีเดียว ก็เบากังวลด้านนี้ แต่จะรับประทาน ๕๑ ผืน ขนาดเท่ากับผ้ากราบเมื่องานบรมราชาภิเษก ถ้าได้ผ้าชนิดนั้นเป็นดี จะใช้ไตรแพรเหมือนกัน ฯ...”

     ผ้ากราบ ในที่นี้หมายถึง ผ้าที่พระภิกษุสามเณรใช้รองในเวลากราบพระซึ่งกลายมาจากผ้าสันถัต (ผ้ารองนั่ง) แต่ในปัจจุบัน ผ้ากราบ จะหมายถึง ผ้าแพรสีเหลืองขนาดกว้าง ๑ คืบ ยาว ๒ คืบ ที่พระภิกษุใช้รับประเคนของจากสตรี

     ธรรมเนียมการใช้ผ้ากราบมิได้มีแต่ในหมู่พระภิกษุสงฆ์  ข้าราชการในสมัยโบราณก็มีการคาดผ้ากราบเวลาเข้าเฝ้าในท้องพระโรงสำหรับปูก่อนถวายบังคม  สำหรับฆราวาสเวลาเข้าไปในปูชนียสถาน ก็จะปลดผ้าที่เกี้ยวเอวไว้แล้วเฉวียงบ่า เมือจะกราบพระพุทธรูป หรือพระสงฆ์ ก็จะปลดชายลงให้ลาดไปเบื้องหน้าสำหรับรองก่อนกราบด้วย

     หลักฐานการใช้ผ้ากราบเช่น จารึกวัดช้างล้อม ซึ่งระบุพ.ศ. ๑๙๒๗ ในสมัยสุโขทัย กล่าวถึงการถวายสิ่งของแก่พระสงฆ์ โดยมี “ผ้านบพระ” หรือผ้ากราบอยู่ในรายการสิ่งของเหล่านั้น  ถึงในสมัยรัตนโกสินทร์ มีการถวายผ้ากราบรวมกับไตรจีวร โดยมีการปักตราหรือพิมพ์ลายอย่างประณีต  แก่พระสงฆ์ที่มาเจริญพระพุทธมนต์ในการพระราชพิธีต่างๆ จึงเกิดธรรมเนียมพระสงฆ์พาดผ้ากราบบนบ่าซ้ายเหนือสังฆาฎิหรือจีวรเมื่อไปในพิธีสำคัญ จนถึงในรัชกาลที่ ๖ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จึงทรงให้พระภิกษุทั้งฝ่ายธรรมยุตและฝ่ายมหานิกายเลิกใช้ผ้ากราบพาดบ่าทั้งหมด ธรรมเนียมพระสงฆ์พาดผ้ากราบจึงยกเลิกไปจากสังคมไทย

     มีข้อชวนสังเกตเกี่ยวกับผ้ากราบสองประการ ประการแรก ผ้ากราบในสมัยโบราณจะใหญ่การใช้งานต้องพับทบตามแนวยาว ซึ่งสะท้อนว่า หากใช้ปูพื้นรองก่อนกราบพระก็สามารถจะใช้ได้จริง และประการที่สอง ผ้ากราบในสมัยรัชกาลที่ ๕ จะมีการแบ่งระดับชั้น แม้จะเป็นของถวายในการพระราชพิธีเดียวกัน  เท่าที่พบชั้นเอก-ปักไหมล้วน ชั้นโท-พิมพ์ลายและปักไหมเดินเส้นลายบางส่วน  ชั้นตรี-พิมพ์ลายเพียงอย่างเดียว  

ที่มาข้อมูล

เด่นดาว ศิลปานนท์. ผ้ากราบ. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๕๓ (กรมศิลปากรจัดพิมพ์ถวายพระภิกษุ สามเณร ที่เข้าชมพิพิธภัฑสถานแห่งชาติ พระนคร เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา ๒๕๕๓)  

“พัดมหาสมณุตมาภิเษก ๒๔๕๓”  เล่าเรื่อง..วัดบวรฯ (ออนไลน์) 

(จำนวนผู้เข้าชม 868 ครั้ง)