...

พระรูปพระองค์เจ้ายี่เข่ง

 

         สูง ๓๘ เซนติเมตร 

         สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานเมื่อ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๓

         ปัจจุบันจัดแสดง ณ พระที่นั่งวสันตพิมาน (ชั้นบน) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

         พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายี่เข่งเป็นพระธิดาในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพชรหึง (พระโอรสในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) พระองค์เจ้ายี่เข่งประสูติเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแต่ต้องก่อน พ.ศ. ๒๓๕๘ ซึ่งเป็นปีที่พระราชทานเพลิงศพพระองค์เจ้าเพชรหึง  เมื่อพระวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายี่เข่งประสูติทรงดำรงพระยศเป็นหม่อมเจ้า ทรงรับราชการเป็นพนักงานนมัสการมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้มารับราชการเข้านอกออกใน (ทำหน้าที่ติดต่อกับเจ้านายและข้าราชการฝ่ายหน้า) อีกตำแหน่งหนึ่ง แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพนักงานพระโอสถ 

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนา หม่อมเจ้ายี่เข่ง เป็น พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายี่เข่ง ทรงศักดินา ๒๐๐๐ เมื่อวันศุกร์ เดือน ๑๒ แรม ๔ ค่ำ ปีกุนนพศก จ.ศ. ๑๒๔๙ ตรงกับวันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๐ พร้อมพระราชทานเครื่องยศ อันประกอบด้วย หีบหมากทองคำลงยาราชาวดี กาน้ำทองคำรูปทรงกระบอก เป็นเครื่องประกอบเกียรติยศ ปรากฏตามคำประกาศว่า  

“...ได้รับราชการเป็นพนักงานนมัสการมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ ครั้นในรัชกาลปัตยุบันนี้ ทรงเห็นว่าเป็นผู้มีความอุสาหะไม่มีเกียจคร้านแลว่องไวกล้าหาญ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกมาสําหรับรับราชการเข้านอกออกใน แลยังคงรับราชการอยู่ในพนักงานนมัสการด้วย ก็ทรงรับราชการทั้งสองตําแหน่งได้ราชการเป็นอันมาก มีพระทัยจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทยิ่งนัก มิได้เห็นแก่ผลประโยชน์สินจ้างสินบนให้เสียราชการ แลเสียเกียรติยศแต่สักครั้งหนึ่งเลย จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอันมาก โปรดเกล้าฯ ให้เป็นพนักงานในการพระโอสถแลการอื่น ๆ อันเป็นการที่จะรักษาพระองค์ให้ทรงสบาย ก็มีความอุสาหะใส่ใจระวังมิให้คลาดเคลื่อน ถึงว่าบางทีจะทําการเกินไปบ้างตามพระอัธยาศัยเดิม ก็เป็นไปโดยความจํานงประสงค์ที่จะให้เจริญพระบรมสุขในพระองค์อย่างเดียว จะหาผู้ที่มีความจงรักภักดีมีใจผูกพันในใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทให้เสมอเหมือนได้โดยยากจึงทรงพระดําริห์ว่าในรัชกาลก่อน ๆ มา หม่อมเจ้าฝ่ายพระราชวังบวรยังหามีพระองค์ใดที่ได้เคยรับพระราชทานพระสุพรรณบัฏเป็นพระองค์เจ้าไม่ ก็เพราะหม่อมเจ้าในพระราชวังบวรยังไม่มีผู้ใดได้รับราชการมีความชอบเสมอหม่อมเจ้ายี่เข่งนี้เลย หม่อมเจ้ายี่เข่งได้รับราชการครั้งนี้ เป็นการพิเศษกว่าหม่อมเจ้าในพระราชวังบวรมาแต่ก่อน ๆ ก็เป็นการสมควรที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกย่องความชอบให้พิเศษกว่าหม่อมเจ้าในพระราชวังบวรแต่ก่อน ๆ นั้น จะได้เป็นบําเหน็จรางวัลในการที่หม่อมเจ้ายี่เข่งได้ฉลองพระเดชพระคุณมาถึง ๒๐ ปีจนทรงพระชรามีพระชนมายุมากแล้วฉนี้จะได้เป็นพระเกียรติยศปรากฏความชอบสืบไปสิ้นกาลนาน แลจะได้เป็นเยี่ยงอย่างแก่พระบรมวงศานุวงศ์ แลข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งฝ่ายหน้าฝ่ายในจะได้มีใจจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทสืบไปภายหน้า...”

          มีเกร็ดเล่ากันถึงเรื่อง  “ถึงว่าบางทีจะทําการเกินไปบ้างตามพระอัธยาศัยเดิม” ตามประกาศนี้คือ เมื่อทรงเป็นพนักงานพระโอสถ คราวหนึ่งพระองค์เจ้ายี่เข่งทรงเชิญพระโอสถมาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเพื่อเสวย  แต่พระองค์ทรงรีรอไม่รีบเสวย พระองค์เจ้ายี่เข่งฉวยไม้บรรทัดบนโต๊ะทรงพระอักษรขึ้นขู่ว่า ถ้าไม่รีบเสวยพระโอสถจะทรงถวายตี เป็นที่ทรงขบขันของรัชกาลที่ ๕ ทรงนำเล่าพระราชทานพวกข้างในว่า "ฉันไม่กินยา เจ้าเข่งแกจะตีฉัน"

          พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายี่เข่ง สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันจันทร์ เดือน ๓ ขึ้น ๑๔ค่ำ ปีวอก อัฐศก จ.ศ. ๑๒๕๘ ตรงกับวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๙  (พระชันษาไม่น้อยกว่า ๘๑ โดยเทียบจากปีที่พระราชทานเพลิงพระศพพระองค์เจ้าเพชรหึง คือ พ.ศ. ๒๓๕๘-๒๔๓๙) พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุวัดสระเกศ วันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๑

         



       ที่ฐานด้านพระรูปพระองค์เจ้ายี่เข่ง เขียนอักษรไทยเขียนว่า “นายแววปันถ่วาย” สำหรับนายแววผู้ปั้นถวายนี้ มีหลักฐานว่า ได้รับเหรียญดุษฎีมาลาเงิน เข็มศิลปวิทยา (ช่างปั้น) เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๓ อีกด้วย

(จำนวนผู้เข้าชม 2066 ครั้ง)