ตู้พระธรรม บนฐานแบบขาหมู เรื่อง รามายณะ ภาพเทวดา ภาพสัตว์ สัตว์หิมพานต์ ลายก้านขด กนกเปลว ลายกนกเปลวเครือเถา (อย.๒๘)
อย.๒๘ ตู้ขาหมู (เลขที่เดิม ๗๒)
ฝีมือช่าง : สมัยอยุธยา
ฝีมือช่าง : สมัยอยุธยา
ประวัติ : เดิมอยู่วัดครุฑ กรุงเทพมหานคร
ลักษณะลาย : ตู้ลายรดน้ำลายก้านขดกนกเปลวและลายกนกเปลวเครือเถาครุฑคาบ นาคคาบ ออกเถาเทวดาครึ่งตัว เทพธิดาครึ่งตัว เทพพนมครึ่งตัว เทพธิดาพนมครึ่งตัว นางรำครึ่งตัว กินนร และกินรีตัวเล็ก ๆ พนมมือครึ่งตัว หัวนาค หัวครุฑ ช่อเปลวมยุราและออกเถา บุคคลในเรื่องรามเกียรติ์ อาทิ พระรามครึ่งตัว ทศกัณฐ์ครึ่งตัว ลิงครึ่งตัวและยักษ์ครึ่งตัว เคล้าภาพเทวดา ภาพสัตว์ นก กระรอกและสัตว์หิมพานต์ในระหว่างเถากนก
ด้านหลัง : ลงทองทึบ ตั้งแต่เสาขอบตู้ ขอบบน ขอบล่าง ขาตู้ ลงรักแดงทึบไม่มีเชิงตู้
เสาขอบตู้ : ๓ ด้านประดับกระจกสีขาวสลับเขียวเป็นลายดอกไม้กลีบซ้อนมีลายจำหลักรักนูนต่ำ
เป็นรูปกาบพรหมสิงห์และกาบพรหมศร ที่สุดตอนบนและตอนล่างของเสาขอบตู้ที่ลายกาบนี้ลงทองทึบ
เสาขาตู้ : ๓ ด้านตกแต่งมุมขาตู้เป็นภาพอสุรวายุภักษ์ นั่งยอง ๆ บนลายเชิง
ขอบบน ขอบล่าง ๓ ด้านตกแต่งเป็นลายประดับกระจกสีเขียวสลับขาว ลายเดียวกับเสาขอบตู้คือลายดอกไม้กลีบซ้อนเหนือลายบัวรวนซึ่งทำเป็นลายรดน้ำ
เชิงตู้ : ๓ ด้านทำเป็นรูปหูช้างตกแต่งเป็นภาพนางเงือก มีลายช่อกนกเสริมพื้นหลังส่วนที่ว่าง ด้านหน้านางเงือกพนมมือ ด้านข้างขวา ริมขวา เป็นเงือกชายถือปลาอีกมือหนึ่งชี้มาทางซ้าย ริมซ้าย นางเงือกถือปลา ๒ มือ ด้านข้างขวา ริมซ้ายนางเงือกอยู่ในท่ายกมือข้างหนึ่งบังหน้าในท่าเอียงอาย
หลังตู้ : มีเสาหัวเม็ดทรงมันลงทองทึบ ๔ เสา