ตู้พระธรรม บนฐานแบบขาหมูเขียนภาพจับรูป บุคคล ๒ คน ต่อสู้กันจากเรื่องรามายณะ ภาพสัตว์ต่างๆ และลายกนก (อย.๑)
ฝีมือช่าง : สมัยอยุธยา
ประวัติ : เดิมอยู่วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร
ลักษณะลาย : ตู้ลายรดน้ำกนกเปลวเครือเถาและลายก้านขดกนกเปลวเคล้าภาพนกกระรอก ครุฑคาบ นาคคาบ ภาพหน้าขบ และออกเถาครุฑนาค เคล้าภาพเทพเจ้า ภาพจับและภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์
เสาขอบตู้ เขียนลายกรวยเชิงตกแต่งหัวเสาและปลายเสาส่วนช่วงกลางของเสาลงทองทึบ เฉพาะ ๓ ด้านยกเว้นด้านหลังซึ่งเขียนลายรักร้อยบัวร้อย
เสาขาตู้ ด้านข้างขวาซ้ายเขียนภาพไม้ยืนต้นกำลังผลิดอกออกผลและเคล้าภาพนกด้านหน้า
ภาพลบเลือนมากมีปรากฏให้เห็นตอนบนของขาตู้เขียนรูปคล้ายหางเหงือกส่วนอื่นๆ ที่ไม่ได้ลงรักดำหรือเขียนลายตกแต่งจะลงรักแดงทึบตลอดส่วนด้านหลังลงรักดำทึบ
ขอบบนขอบล่าง ลงทองทึบอยู่เหนือลายบัวรวน
เชิงตู้ ทำเป็นรูปปากสิงห์ทั้ง ๔ ด้านแต่เขียนลายตกแต่งเฉพาะด้านหน้าและด้านข้างซ้ายขวา
ด้านหน้าเขียนลายก้านขดกนกเปลวออกเถาลิงเคล้าภาพนก และภาพบุรุษ ๓ คน อยู่เหนือจมูกสิงห์ ๑ คนส่วนอีก ๒ คนอยู่มุมซ้ายและขวาของเชิงตู้ ด้านข้างซ้ายเขียนลายก้านขดกนกเปลวเคล้าภาพบุรุษ ๓ คน ซึ่ง ๒ ใน ๓ ที่อยู่มุมขวาซ้ายของเชิงตู้ ด้านข้างซ้ายนี้ถือกิ่งไม้คนละ ๑ กิ่ง ด้านข้างขวาเขียนลายพันธุ์พฤกษาเคล้าภาพบุรุษ ๓ คน ซึ่ง ๒ ใน ๓ คนที่อยู่มุมขวาซ้ายต่างก็ถือไม้คนละ ๑ กิ่ง ภาพบุคคลที่เขียนตกแต่งบางคนมีใบหน้าทรงผมและสวมหมวกแบบชาวยุโรป