ตู้พระธรรม บนฐานแบบขาหมูเขียนภาพเล่าเรื่อง ในชาดก และภาพทิวทัศน์ (อย.๘)

ฝีมือช่าง :           สมัยอยุธยา
ประวัติ :              เดิมอยู่วัดประยูรวงศาวาสวรวิหาร  กรุงเทพมหานคร
ลักษณะลาย :     ตู้ลายกำมะลอ ใช้สีเทา สีแดงคล้ำ และสีทองบนพื้นรักดำ ตกแต่งภาพเล่าเรื่องในชาดกและภาพทิวทัศน์
             ด้านหน้าขวาซ้าย  เขียนภาพเล่าเรื่องมหาชนกชาดกสืบเนื่องกันแบ่งเป็น ๒ ตอนบนและตอนล่าง  
มีเส้นแบ่งภาพเป็นริ้วคล้ายเกลียวคลื่น ตอนล่างขวาซ้ายเป็นภาพท้องสมุทร ด้านขวามีภาพเรือสำเภาใหญ่กำลังจะจมน้ำ ในน้ำมีภาพคนที่หนีจากเรือแตกว่ายน้ำอยู่ มีปลาลักษณะต่าง ๆ ขบกัด มีภาพนางเงือกและอมนุษย์ชื่อนรปักษีเหราครึ่งบนเป็นคนครึ่งล่างเป็นจรเข้มีปีก นรปักษีมัจฉาครึ่งบนเป็นคนมีปีกครึ่งล่างเป็นปลา ทั้งหมดแหวกว่ายในสายธารด้วยอากัปกิริยาที่แตกต่างกัน เคล้าคู่กันบ้าง โดดเดี่ยวบ้าง ขบกัดคนบ้าง ตอนกลางริมขวามีภาพพระชนกกำลัง   แหวกว่ายอยู่ในท้องสมุทร มีนางเมขลาเหาะลงมาทางเหนือเส้นแบ่งภาพริมขวา ตอนบนด้านขวามีภาพพระราชาขี่ม้าเหาะมาในอากาศผ่านป่าเขาลำเนาไม้ ตอนกลางด้านซ้ายเป็นภาพเล่าเรื่องปาจิตตกุมารชาดก ในภาพนางอรพิมพ์นั่งชิงช้าซึ่งโยงอยู่กับต้นไม้ พระปาจิตตกุมารยืนอยู่เคียงข้างเหนือขึ้นไปเล็กน้อย พระปาจิตตกุมารถูกอาวุธล้มลง นางอรพิมพ์เข้าประคองอยู่เคียงข้างโจรร้ายกำลังจะฉุดนางไป มีภาพโขดเขา ต้นไม้ สุมทุมพุ่มพฤกษ์ ประกอบเป็นพื้นหลังเสริมส่วนที่ว่าง ช่วยให้เห็นเป็นธรรมชาติป่าโดยแท้จริง กึ่งกลางประตูตู้มีโลหะทำเป็นรูปประจำยามรัดอก
            เสาขอบตู้ ขอบบน ขอบล่าง  ๔ ด้าน ลงทองทึบ
            เสาขาตู้  ด้านหน้าเป็นรูปท้าวเวสุวัณยืนข้างละ ๑ ตน ด้านข้างขวาซ้ายเป็นภาพบุคคลยืนด้านหลังลงรักแดงทึบ
            เชิงตู้  ทำเป็นรูปหูช้าง ๓ ด้าน ด้านหลังไม่มีเชิงตู้ ด้านหน้าเขียนเป็นภาพท้องสมุทร มีภาพเหราพต เงือก ปลา นานาชนิด แหวกว่ายคละเคล้ากัน ด้านข้างขวาซ้ายตกแต่งด้วยลายคล้ายพันธุ์พฤกษา แต่ลบเลือนมากไม่เห็นส่วนละเอียด
 


Star vote. Star vote. Star vote. Star vote. Star vote.

Messenger