ตู้พระธรรม บนฐานแบบขาหมูภาพเล่าเรื่อง รามายณะ เขียนลายต่างๆ เช่น เทพนม เทพรำ ช่อหางโต เคล้าภาพบุคคล ภาพสัตว์หิมพานต์ลายกนกเปลว เครือเถาคาบครุฑ นาคคาบ ออกเถา (อย.๑๗)
ฝีมือช่าง : สมัยอยุธยา
ประวัติ : เดิมอยู่วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร
ลักษณะลาย : ตู้ลายรดน้ำกนกเปลวเครือเถาครุฑคาบ นาคคาบ ออกเถาเทพรำ เทพนม ช่อหางโต เคล้าภาพบุคคลยืนโดดเดี่ยว ภาพสัตว์หิมพานต์ และภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์
ด้านหลัง ลงรักดำทึบเฉพาะหนังตู้ ส่วนขอบบน ขอบล่าง เสาขอบตู้ เสาขาตู้ เชิงตู้ ลงรักแดงทึบตรงกลางด้านหลังมีร่องรอยการร่างลวดลายด้วยรักแดงแต่ทำไม่เสร็จ
เสาขอบตู้ ทำเป็นย่อมุมไม้ ๘ และลงทองทึบเฉพาะส่วนที่ย่อมุม ๓ ด้านคือ ด้านหน้า ด้านข้าง ขวา ซ้าย ส่วนตัวเสาตกแต่งด้วยลายเถาเลื้อย
เสาขาตู้ ย่อมุมไม้ ๔ ตกแต่งด้วยลายเถาเลื้อย ๓ ด้าน
ขอบบน ขอบล่าง ลงทองทึบเหนือลายบัว
เชิงตู้ ทำเป็นรูปปากสิงห์ เขียนลวดลาย ๓ ด้าน คือด้านหน้า ด้านหลัง ขวา ซ้าย ตกแต่งด้วยลายผีเสื้อและก้านขดกนกเปลว ที่มุมขวาและซ้ายของปากสิงห์ ขอบปากสิงห์ ฟันสิงห์และจมูกสิงห์ลงทองทึบ
หลังตู้ มีเสาหัวเม็ดทำเป็นเสาสี่เหลี่ยมลงรักแดงทึบ