ตู้ขาหมูมีลิ้นชัก (อย.๑๘)

ฝีมือช่าง :          สมัยอยุธยา
ประวัติ :             เดิมอยู่วัดนางนองวรวิหาร  กรุงเทพมหานคร
ลักษณะลาย :    ตู้ลายรดน้ำ ลายก้านขด และกนกเปลวเครือเถา ครุฑคาบ นาคคาบ ออกเถาเทพพนม ครุฑ ยักษ์ กินนรรำ กินรีรำ หัวราชสีห์ หัวนก หัวครุฑ หัวนาค หัวงู หน้าขบ เคล้าภาพสัตว์ มี นก ลิง กระรอก เป็นต้น สัตว์หิมพานต์ ภาพเทวดา และภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติ
                          เสาขอบตู้  ๔ ด้านประดับกระจกสีเขียวและขาว เป็นรูปดอกไม้คล้ายทรงพุ่มข้าวบิณฑ์มีขอบลวดกระหนาบ ๒ ข้าง ในลูกกระหนาบประดับกระจกสีเขียวสลับขาวทำเป็นลูกแก้วกระนาบอยู่ ๒ ข้างเสาขอบตู้
                          เสาขาตู้  ลงทองทึบลงมาถึงเชิงตู้ ต่อจากนั้นลงรักแดงทึบ
                          ขอบบน ขอบล่าง  ๔ ด้าน ประดับกระจกสีขาว เขียว คล้ายรูปประจำยามลูกฟักก้ามปูเหนือลายบัว ซึ่งจำหลักรักนูนต่ำเป็นรูปกลีบบัว มีกระจกสีขาวและเขียวประดับตรงกลางกลีบบัว
                          กรอบลิ้นชัก  มีเฉพาะด้านหน้า ด้านข้างทำเป็นเชิงตู้ กรอบลิ้นชักด้านหน้าลงรักแดงทึบ
                          ท้องไม้  ด้านหน้า ตกแต่งด้วยลายประจำยามลูกฟักก้ามปู
                          เชิงตู้  ด้านหน้าทำเป็นรูปหูช้างตกแต่งด้วยลายกนกเปลวเถา ด้านข้างขวาซ้าย และด้านหลังทำเป็น รูปปากสิงห์ ด้านข้างขวาซ้ายตกแต่งด้วยลายก้านขดกนกเปลว ข้างขวาออกเถาคชสีห์ครี่งตัว ข้างซ้ายออกเถาราชสีห์ครึ่งตัว ด้านหลังตกแต่งเป็นภาพกองทัพพระยามารถูกน้ำท่วม สืบเนื่องมาจากภาพตัวตู้ด้านหลัง ในภาพบรรดาทหารของพระยามารพร้อมทั้งพาหนะถูกน้ำท่วม เกิดการต่อสู้กันเองบ้าง ต่อสู้กับสัตว์น้ำบ้าง ทั้งหมดอยู่ในท่าทางดิ้นรนขวนขวายอย่างชุลมุนวุ่นวาย ภาพพลเสนามารเขียนเป็นชาวยุโรปบ้าง จีนไว้เปียยาวบ้าง ปะปนอยู่ด้วย
                         หลังตู้  ทำเป็นหลังคาบัวคว่ำ มีภาพจำหลักรักนูนต่ำเป็นลายกระจังปฏิญาณประดับกระจกสีเขียว 
ขาวอยู่เหนือขอบตู้ ตัวลายลงทองทึบ ส่วนที่เป็นบัวคว่ำลงรักแดงทึบ เหนือบัวคว่ำเป็นภาพจำหลักรักนูนรูปกระจังตาอ้อย ลงทองทึบ แต่เนื่องจากชำรุดมากตัวกระจังที่สมบูรณ์เกือบจะไม่มีเหลือ
 


Star vote. Star vote. Star vote. Star vote. Star vote.

Messenger