ด้วยภาคใต้เป็นส่วนหนึ่งของคาบสมุทรมลายู (Malay Peninsula) เริ่มที่บริเวณคอคอดกระที่ประมาณละติจูด ๑๐ องศาเหนือ ยื่นยาวลงไปทางใต้จนถึงประเทศมาเลเซีย มีชายฝั่งทะเลขนาบอยู่ ๒ ด้าน คือ ด้านตะวันตกติดทะเลอันดามัน มีลักษณะเป็นที่ราบชายฝั่งแบบยุบตัว แคบ เว้าแหว่ง บางแห่งมีภูเขาจดชายฝั่งทำให้เกิดเป็นหน้าผาชันตามแนวชายฝั่งทะเล ด้วยเหตุนี้จึงมีพื้นที่จำกัดและขยายตัวยากจึงเป็นที่ตั้งของชุมชนขนาดเล็ก แต่ด้วยความที่อยู่ด้านตรงข้ามกับอินเดียจึงมีความเหมาะสมต่อการเดินเรือมาขึ้นบกของพ่อค้าชาวต่างชาติ ดังปรากฏหลักฐานว่ามีชุมชนโบราณฝั่งตะวันตกได้พัฒนาขึ้นและมีบทบาทเป็นเมืองท่าสำคัญทางฝั่งทะเลอันดามันอย่างชัดเจนในเวลาต่อมา ส่วนด้านตะวันออกติดทะเลอ่าวไทย มีลักษณะเป็นชายฝั่งแบบยกตัวมีการทับถมของโคลนตะกอนที่แม่น้ำและกระแสน้ำในทะเลพัดพามาทำให้เกิดเป็นที่ราบกว้างขึ้นมีสันทรายปรากฏอยู่ทั้งบนหาดและในพื้นน้ำนอกฝั่ง มีความเหมาะสมต่อการตั้งถิ่นฐานและการเพาะปลูกจึงพบร่องรอยชุมชนโบราณอยู่บริเวณเชิงเขาและที่ราบริมฝั่งทะเล ในช่วงแรกเริ่มประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์ในพื้นที่ต่างๆ ในเวลาต่อมา

           ชุมชนโบราณฝั่งตะวันตก (ทะเลอันดามัน) : ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีในช่วงแรกเริ่มประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์ในพื้นที่ต่างๆ ดังนี้ - จังหวัดระนอง เช่น แหล่งโบราณคดีภูเขาทอง แหล่งเรือโบราณคลองกล้วย เป็นต้น - จังหวัดพังงา เช่น แหล่งโบราณคดีนางย่อน ชุมชนโบราณตะกั่วป่า ประกอบด้วย แหล่งโบราณคดีเขาพระเหนอ แหล่งโบราณคดีเหมืองทอง-เกาะคอเขา (ทุ่งตึก) แหล่งโบราณคดีเขาพระนารายณ์ (เขาเวียง) - จังหวัดกระบี่ เช่น แหล่งโบราณคดีควนลูกปัด (คลองท่อม) เป็นต้น - จังหวัดตรัง เช่น แหล่งโบราณคดีนาพละ เป็นต้น ชุมชนโบราณฝั่งตะวันออก (อ่าวไทย) : ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีในช่วงแรกเริ่มประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์ในพื้นที่ต่างๆ ดังนี้ - จังหวัดชุมพร เช่น แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว แหล่งโบราณคดีเขาเสก เป็นต้น - จังหวัดสุราษฏร์ธานี เช่น แหล่งโบราณคดีวัดอัมพาวาส แหล่งโบราณคดีวัดศาลาทึง แหล่งโบราณคดีท่าชนะ แหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ แหล่งโบราณคดีไชยา แหล่งโบราณคดีพุนพิน แหล่งโบราณคดีเขาศรีวิชัย แหล่งโบราณคดีเวียงสระ เป็นต้น - จังหวัดนครศรีธรรมราช เช่น แหล่งโบราณคดีริมคลองท่าเรือและบ้านเกตกาย แหล่งโบราณคดีเขาคา แหล่งโบราณคดีท่าศาลา-สิชล แหล่งโบราณคดีโมคลาน แหล่งโบราณคดีตุมปัง เป็นต้น - จังหวัดสงขลา เช่น แหล่งโบราณคดีสทิงพระ แหล่งเตาปะโอ เป็นต้น - จังหวัดปัตตานี เช่น แหล่งโบราณคดียะรัง เป็นต้น


ภาพ : แหล่งเรือโบราณคลองกล้วย จังหวัดระนอง (ปัจจุบันกองโบราณคดีใต้น้ำได้นำชิ้นส่วนไม้ที่คาดว่าเป็นส่วนประกอบของเรือไปศึกษาและดำเนินการอนุรักษ์ต่อไป) ภาพโดย : กลุ่มโบราณคดีและอนุรักษ์โบราณสถาน สาขาภูเก็ต


ภาพ : โบราณสถานหมายเลข ๑๒ แหล่งโบราณคดีเขาศรีวิชัย จังหวัดสุราษฏร์ธานี ภาพโดย : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช

          แหล่งโบราณคดีและชุมชนโบราณต่างๆ เหล่านี้ พบหลักฐานทางโบราณคดีหลายประเภทที่สัมพันธ์กับการติดต่อค้าขายกับอินเดีย เช่น ลูกปัดชนิดต่างๆ เครื่องประดับทองคำ ตราประทับ หัวแหวนหรือจี้สลักจากหินมีค่า เหรียญโลหะ เศษภาชนะดินเผาแบบอินเดีย และบางแหล่งพบหลักฐานทางศาสนา เช่น ประติมากรรมรูปเคารพทั้งในศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โบราณสถาน และจารึก

-------------------------------------
ค้นคว้า/เรียบเรียงข้อมูล : น.ส.สุขกมล วงศ์สวรรค์ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ
-------------------------------------

อ้างอิง : - ผาสุข อินทราวุธ, “ร่อยรอยวัฒนธรรมอินเดียในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”, โบราณคดีและประวัติศาสตร์ไทย ฉบับครูสังคม. กรุงเทพฯ: ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี, ๒๕๔๕. - มหาวิทยาลัย,จุฬาลงกรณ์. ภูมิลักษณ์ประเทศไทย. กรุงเทพฯ: บริษัทด่านสุทธาการพิมพ์, ๒๕๓๔.