การก่อสร้างพระเมรุและอาคารประกอบในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
กสารองค์ความรู้เกี่ยวกับพระเมรุ ในพิธียกเสาพระเมรุงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๕ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ บริเวณท้องสนามหลวงด้านทิศใต้
 
 การก่อสร้างพระเมรุและอาคารประกอบในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ                     
 
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
          คณะกรรมการจัดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา  สิริโสภาพัณณวดี มอบหมายให้ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบออกแบบก่อสร้างพระเมรุและอาคารประกอบ
กรมศิลปากรได้เชิญพลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากรและศิลปินแห่งชาติสาขาสถาปัตยกรรมไทย เป็นผู้ออกแบบ เป็นที่ปรึกษาและควบคุมการก่อสร้างพระเมรุและอาคารประกอบ ตลอดถึงการจัดสร้างพระโกศจันทน์ การบูรณะซ่อมแซมราชรถและพระยานมาศทุกองค์เพื่อใช้ในงานพระราชพิธีครั้งนี้
ในการนี้ พลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น ได้ศึกษาและร่างแบบพระเมรุทรงปราสาทยอดมณฑป นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รูปแบบพระเมรุแล้ว พระราชทานกำหนดการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ ในวันจันทร์ที่ ๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๕
 กรมศิลปากรดำเนินการเขียนแบบ ขยายแบบพระเมรุและอาคารประกอบ ตามขั้นตอนงานช่างอย่างไทยเริ่มงานปรับพื้นที่บริเวณท้องสนามหลวงฝั่งทิศใต้และเตรียมการเบื้องต้นเพื่อการก่อสร้างอาคารประกอบพระเมรุหลังต่างๆ ที่ใช้ในงานพระราชพิธีดังกล่าวให้เสร็จสมบูรณ์อย่างสมพระเกียรติทันตามกำหนดการพระราชพิธี
และในวันจันทร์ที่ ๑๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๕ (ตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือนยี่) เวลา ๑๑.๕๙ น. คณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุ กำหนดให้มีพิธียกเสาพระเมรุ ทั้งนี้เพื่อเป็นการบวงสรวงบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายบริเวณสนามหลวง เพื่อทำการขออนุญาตปลูกสร้างพระเมรุ และเพื่อความเป็นสิริมงคลของงานการก่อสร้างพระเมรุ คณะกรรมการฯ คณะทำงานฯ ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งปวง
พระเมรุ
คนไทยมีคติความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์เปรียบเสมือนสมมติเทพ เมื่อเสด็จพระราชสมภพถือว่าเป็นเทพอวตาร เมื่อถึงวาระสุดท้ายของพระชนมชีพ คือการเสด็จกลับสู่เทวพิภพ เรียกว่า สวรรคต  มีความหมายว่า เสด็จสู่สวรรคาลัย ณ ยอดเขาพระสุเมรุ และตามโบราณราชประเพณีจึงมีการจัดงานถวาย พระเพลิงพระศพ สืบต่อมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาจนถึงปัจจุบัน โดยอัญเชิญพระศพไปถวายพระเพลิงบนพระเมรุ    ที่สร้างขึ้น ณ มณฑลพิธี ซึ่งสมมติหมายว่าเป็นพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
         พระเมรุสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นอาคารทรงปราสาทยอดมณฑป หลังคาจัตุรมุขซ้อนสองชั้น สร้างขึ้นบนฐานชาลาใหญ่ จากฐานชาลาถึงยอดฉัตรสูง ๓๕.๕๙ เมตร มุขหน้าด้านทิศตะวันตกเป็นทางเสด็จพระราชดำเนิน มุขด้านทิศเหนือมีสะพานเกรินสำหรับอัญเชิญพระโกศขึ้นประดิษฐานเหนือพระจิตกาธานภายในพระเมรุ มุขหลังด้านทิศตะวันออกเป็นพื้นที่วางเตาเผาพระศพ บริเวณฐานชาลาทุกด้านมีบันไดทางขึ้นลง รายล้อมด้วยรั้วราชวัติ ฉัตร โคม และเทวดาอัญเชิญฉัตรประกอบพระอิสริยยศ  
  เครื่องยอดพระเมรุ เป็นทรงมณฑปมีชั้นเชิงกลอน ๕ ชั้น แต่ละชั้นมีซุ้มบันแถลงซ้อน ๒ ชั้น มุมหลังคา   มีนาคปัก ส่วนบนเป็นองค์ระฆังรับบัลลังก์ เหนือบัลลังก์เป็นชุดบัวคลุ่ม ๕ ชั้น ปลียอดแบ่งสองส่วนคั่นด้วยลูกแก้ว บนยอดมีเม็ดน้ำค้าง เหนือสุดปักเบญจปฎลเศวตฉัตร หน้าบันทั้ง ๔ ด้านประดับอักษรพระนาม “พร” โครงสีของพระเมรุโดยรวมเป็นสีทองและสีชมพู ตามสีวันพระราชสมภพ คือวันอังคาร
         ภายในพระเมรุตั้งพระจิตกาธาน ประดิษฐานพระโกศไม้จันทน์ ส่วนบนสุดประดับฉัตรผ้า ๕ ชั้น
         การตกแต่งพระเมรุ ใช้งานศิลปกรรมแบบซ้อนไม้ทดแทนการแกะสลักไม้จริง เป็นลักษณะพิเศษที่ใช้ในงานพระเมรุ อันถือเป็นงานลำลองสำหรับอาคารใช้งานชั่วคราว งานพระเมรุครั้งนี้ มีแนวคิดที่ลดการใช้ไม้    ซึ่งเป็นวัสดุหายาก จึงเสริมบางส่วนที่เป็นงานซ้อนไม้ด้วยวิธีการปั้นหล่อถอดพิมพ์ไฟเบอร์กลาส การประดับตกแต่งส่วนอื่นๆ ใช้การปิดผ้าทองย่นสาบสีสอดแววแทนการปิดทองประดับกระจก

ซ่าง
ซ่าง คืออาคารที่สร้างบนฐานชาลาพระเมรุทั้ง ๔ มุม เป็นที่สำหรับพระพิธีธรรม ๔ ชุดสลับกันสวดพระอภิธรรม ตั้งแต่เชิญพระโกศพระศพประดิษฐานบนพระจิตกาธานจนเสร็จการพระราชทานเพลิง

หอเปลื้อง
          หอเปลื้องเป็นอาคารขนาดเล็กชั้นเดียวหลังคาจั่ว ตกแต่งผนัง ๔ ด้าน เป็นฝาปะกนตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระเมรุ เป็นที่เก็บพระโกศและเครื่องประกอบ หลังจากที่เปลื้องออกจากพระลองแล้ว และสำหรับเก็บเครื่องใช้เบ็ดเตล็ดในช่วงการพระราชทานเพลิงพระศพ

พระที่นั่งทรงธรรม
          พระที่นั่งทรงธรรม ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของพระเมรุ สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับขณะบำเพ็ญพระราชกุศล มีบริเวณสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร ทูตานุทูต นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เฝ้าฯ รับเสด็จ
   พระที่นั่งองค์นี้มีลักษณะเป็นอาคารโถง หลังคาจัตุรมุข ยกพื้นสูง หลังคาจั่วมีกันสาดปีกนก ด้านหน้าและด้านข้างต่อเป็นหลังคาปะรำ เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการใช้สอย มุขด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันออกหรือมุขหน้าและหลัง เป็นมุขประเจิด
          การที่สถาปนิกออกแบบให้พระนั่งทรงธรรมตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก หันหน้าไปทางทิศตะวันออกสู่พระเมรุ เนื่องจากพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพจะเริ่มตั้งแต่ช่วงบ่ายไปจนถึงค่ำ ร่มเงาของพระที่นั่งทรงธรรม จะทอดสู่ลานและบันไดทางเสด็จพระราชดำเนินขึ้นพระเมรุ อีกทั้งผู้ที่อยู่บนพระที่นั่งทรงธรรม จะแลเห็น   แสงเงาและสีสันอันงดงามของพระเมรุที่สะท้อนแสงอาทิตย์ในช่วงบ่ายถึงเย็น

 พลับพลายกสนามหลวง
          พลับพลายกสนามหลวง ตั้งอยู่ด้านหน้าทางเข้าปริมณฑลท้องสนามหลวงเป็นอาคารโถง สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ประทับขณะประกอบพิธีอัญเชิญพระโกศจากพระเวชยันตราชรถเข้าสู่มณฑลพิธี ผังอาคารเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า พื้นที่ส่วนกลางยกฐานสูง หลังคาจั่วตรีมุข มีมุขลดชั้น มุงด้วยเหล็กรีดลอน ปีกซ้ายขวาเป็นหลังคาเต็นท์ผ้าใบกันน้ำสำเร็จรูปทรงจั่ว  แบบเดียวกับทิมและทับเกษตร

ศาลาลูกขุน
         ศาลาลูกขุนหรือศาลาข้าราชการ ใช้เป็นที่สำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าฯรับเสด็จและร่วมพิธี เป็นอาคารโล่งชั้นเดียว ในครั้งนี้มีการปรับประยุกต์ใช้เต็นท์สำเร็จรูปเป็นโครงอาคาร และได้ออกแบบองค์ประกอบและลวดลายทางสถาปัตยกรรมไทย ตกแต่งให้เข้ากับหลังคาเต็นท์โค้ง

ทับเกษตร
          ทับเกษตรหรือคด หมายถึงอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อแสดงขอบเขตมณฑลพิธี มักสร้างเป็นระเบียงล้อมรอบพระเมรุ ใช้เป็นที่นั่งของเจ้าหน้าที่ผู้มาร่วมงาน ส่วนกลางทับเกษตรเป็นอาคารยอดมณฑป ชั้นเชิงกลอนประดับด้วยซุ้มบันแถลงและนาคปักที่มุมทั้งสี่ บนหลังคาอาคารส่วนที่เป็นปีกทั้งสองด้านประดับฉัตรผ้าทองแผ่ลวด

ทิม
          ทิม คือที่พักของพระสงฆ์ แพทย์หลวง และเจ้าพนักงาน และเป็นที่ประโคมปี่พาทย์ประกอบพิธีสร้างติดแนวรั้วราชวัติ มีลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียว หลังคาใช้เต็นท์ผ้าใบกันน้ำทรงจั่ว ตกแต่งปลายจั่วเป็นหน้าเหรา ยอดเป็นหน้ากาล ซึ่งเป็นแบบลายมาตรฐานในอาคารประกอบพระเมรุ คือพลับพลายกท้องสนามหลวง พลับพลายกหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และทับเกษตร อีกด้วย

 รั้วราชวัติและเสาโคม
รั้วราชวัติเป็นแนวกำหนดขอบเขตปริมณฑลพระเมรุ  สร้างต่อเนื่องไปกับทิมและทับเกษตร รั้วเป็นเหล็กโปร่ง สูง ๙๐ เซนติเมตร ประดับดอกประจำยามหล่อด้วยไฟเบอร์กลาส ตกแต่งเสารั้วด้วยโคมไฟแก้วใสขนาดเล็ก
เสาโคมส่องสว่าง ตั้งอยู่ที่ทางเข้าทั้งสี่ด้าน และเรียงรายอยู่ใน เขตมณฑลพิธี ยอดเสาเป็นโคมแก้วใสลักษณะเดียวกับที่รั้วราชวัติ แต่มีขนาดใหญ่กว่า ยอดโคมเป็นยอดมงกุฎสีทอง เพื่อแทนความหมายของการเป็นดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พลับพลายก หน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
            พลับพลายก หน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามตั้งอยู่มุมกำแพงวัด เยื้องกรมการรักษาดินแดน เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ขณะเชิญพระโกศจากพระยานมาศขึ้นสู่ราชรถ เป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้า พื้นที่ส่วนกลางยกฐานสูง หลังคาจัตุรมุข มีมุขลดชั้น มุงด้วยเหล็กรีดลอน ปีกซ้ายขวาเป็นหลังคาเต็นท์ผ้าใบกันน้ำสำเร็จรูปทรงจั่ว

พลับพลายกหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท
          พลับพลายกหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท เป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน ขณะทอดพระเนตรกระบวนแห่พระโกศ มีลักษณะเป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาทรงปะรำ (หลังคาเรียบ) ประดับตกแต่งด้วยกระจังลายดอกไม้ประดิษฐ์ ลูกฟักผนังอาคารเป็นลายโค้ง มีความนุ่มนวลเหมาะกับการเป็นอาคารที่ประทับของเจ้านายผู้หญิง

เกยลา
          เกยลา ตั้งอยู่ด้านนอกประตูกำแพงแก้วด้านทิศตะวันตกของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง มีลักษณะเป็นแท่นฐานยกพื้นสี่เหลี่ยมย่อมุม มีรางเลื่อนสำหรับเชิญพระโกศขึ้นประดิษฐานบนพระยานมาศ

(จำนวนผู้เข้าชม 697 ครั้ง)

Messenger