สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช เปิดโบราณสถาน ๕ แห่ง ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด
            สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช แจ้งข่าวประชาสัมพันธ์เวลาเปิด - ปิดโบราณสถาน ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๘ ได้แก่ หอพระสิหิงค์ หอพระสูง หอพระอิศวร หอพระนารายณ์ และโบสถ์พราหมณ์ อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ วันจันทร์ - อาทิตย์ เวลา ๐๘.๓๐ - ๑๖.๐๐ น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางกล่องข้อความ facebook สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช หรือ โทร. ๐ ๗๕๓๕ ๖๔๕๘
             - หอพระสิหิงค์ หรือหอพระพุทธสิหิงค์ เป็นสถานที่ประดิษฐาน “พระพุทธสิหิงค์” พระพุทธรูปสำคัญคู่เมืองนครศรีธรรมราช กำหนดอายุในสมัยอยุธยา (ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑) หอพระสิหิงค์ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช เดิมเป็นหอพระตั้งอยู่บริเวณจวนเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งปัจจุบันคือที่ตั้งศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช “พระพุทธสิหิงค์” ถือเป็นพระพุทธรูปสำคัญของบ้านเมือง ซึ่งในประเทศไทยปรากฏพระพุทธสิหิงค์เพียง ๓ องค์ องค์แรกประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร องค์ที่ ๒ ประดิษฐานในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ และองค์ที่ ๓ ประดิษฐานในหอพระพุทธสิหิงค์ จังหวัดพระนครศรีธรรมราช 
             - หอพระสูง หรือ พระวิหารสูง เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประธานปางมารวิชัย ศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลายหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น (ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓ - ๒๔) หอพระสูงถือเป็นโบราณสถานสำคัญแห่งหนึ่งในเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตั้งอยู่ที่ตำบลคลัง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยตั้งอยู่บนเนินดินขนาดใหญ่ นอกกำแพงเมืองนครศรีธรรมราชด้านทิศเหนือ มีข้อสันนิษฐานหลายประการเกี่ยวกับประวัติการสร้างหอพระสูงและที่มาของเนินดิน เช่น เชื่อว่าเนินดินนี้เกิดจากชาวเมืองนครศรีธรรมราชช่วยกันขุดดินจากบริเวณคลองหน้าเมืองมาถมจนเป็นเนินใหญ่ เพื่อใช้ตั้งปืนใหญ่ในการสกัดกั้นทัพพม่าในคราวที่มีการยกทัพมาตีหัวเมืองภาคใต้ตั้งแต่มะริด ถลาง ไชยา เรื่อยมาจนถึงนครศรีธรรมราช เมื่อครั้งสงคราม ๙ ทัพใน พ.ศ. ๒๓๒๘ ภายหลังเนินดินแห่งนี้ได้กลายเป็นที่รกร้าง มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมหนาแน่น ราว พ.ศ.๒๓๗๗ เจ้าพระยานคร (น้อย) เห็นว่าควรจะสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ชาวเมือง จึงให้สร้างพระพุทธรูปขนาดหน้าตักประมาณ ๕ ศอก สูงประมาณ ๘ ศอกขึ้นบนเนินนั้น และสร้างวิหารสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปด้วยหลังหนึ่ง เรียกว่า “หอพระสูง” และเรียกสถานที่แห่งนี้ว่าหอพระสูงมาตั้งแต่บัดนั้น
             - หอพระอิศวร ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ซึ่งบูชาพระอิศวรหรือพระศิวะเป็นใหญ่เหนือเทพองค์อื่น สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์ศิลา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระองค์ สันนิษฐานว่าหอพระอิศวรสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา โดยสร้างขึ้นพร้อมกับหอพระนารายณ์ และโบสถ์พราหมณ์ ตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่เจริญควบคู่มากับการตั้งถิ่นฐานของเมืองนครศรีธรรมราช นอกจากนั้นภายในหอพระอิศวรยังเคยเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปสำริดอื่นๆ ได้แก่ พระศิวนาฏราช พระอุมา พระคเณศ และรูปหงส์ ปัจจุบันได้นำไปเก็บรักษาและจัดแสดงไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช 
              - หอพระนารายณ์ ตั้งอยู่ตรงข้ามกับหอพระอิศวร เป็นโบราณสถานในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ลัทธิไวษณพนิกาย บูชาพระนารายณ์เป็นใหญ่เหนือเทพองค์อื่น สร้างขึ้นเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมเนื่องในลัทธิศาสนาและประดิษฐานเทวรูปพระนารายณ์ หอพระนารายณ์ มีการบูรณะมาแล้วหลายครั้ง การบูรณะครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นในสมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ (สิน เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช (พ.ศ. ๒๕๖๒ – ๒๔๗๕) หลักฐานสำคัญที่พบในหอพระนารายณ์ ได้แก่ เทวรูปพระนารายณ์ สี่กร ทำด้วยหินทรายลักษณะเป็นเทวรูปรุ่นเก่า อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ – ๑๑ ปัจจุบันนำมาเก็บรักษาและจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช ส่วนเทวรูปพระนารายณ์ที่ประดิษฐานอยู่ภายในหอนั้น กรมศิลปากรได้จำลองแบบตามภาพถ่ายเก่า ลักษณะเป็นเทวรูปในศิลปะอยุธยา จากการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๘ พบว่าอาคารหอพระนารายณ์หลังปัจจุบัน สร้างทับอาคารหลังเก่าที่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยอาคารปัจจุบันมีขนาดเล็กกว่า
              - โบสถ์พราหมณ์ เป็นเทวสถานสำคัญประจำเมืองนครศรีธรรมราช สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมสำคัญของพราหมณ์ โดยเฉพาะพิธีตรียัมปวาย และตรีปวาย ภายในเคยเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพเนื่องในศาสนาพราหมณ์ที่สำคัญหลายองค์ ได้แก่ พระศิวนาฏราชสำริด พระอุมาสำริด พระวิษณุสำริด พระหริหระสำริด พระคเณศสำริด และหงส์สำริด ภายหลังโบสถ์พราหมณ์หลังที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยามีสภาพชำรุดมาก จึงถูกรื้อลงใน พ.ศ. ๒๕๐๕ กระทั่งใน พ.ศ.๒๕๕๗ สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี พบฐานรากอาคารของโบสถ์พราหมณ์ห่างจากหอพระอิศวรมาทางทิศใต้ ๕ เมตร ลักษณะเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก ขนาดกว้าง ๖.๕๐ เมตร ยาว ๒๒ เมตร ภายในอาคารด้านในสุดมีห้องคูหาก่ออิฐทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสและมีแท่นสำหรับประดิษฐานรูปเคารพอยู่ภายใน ในครั้งนั้นได้มีการนำตัวอย่างอิฐที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีไปกำหนดอายุด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ด้วยเทคนิคเรืองแสงความร้อน (TL) ได้ค่าอายุประมาณ ๔๕๐ - ๕๐๐ ปีมาแล้ว ซึ่งตรงกับสมัยอยุธยา จากการดำเนินงานทางโบราณคดีครั้งดังกล่าว ใน พ.ศ. ๒๕๖๒ สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช จึงดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์โบสถ์พราหมณ์ขึ้นใหม่ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ในการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ และเพื่อเป็นการคงคุณค่าความสำคัญของโบสถ์พราหมณ์ในฐานะโบราณสถานเนื่องในศาสนาพราหมณ์แห่งเมืองนครศรีธรรมราช

(จำนวนผู้เข้าชม 11 ครั้ง)