กรมศิลป์ชี้แจง บูรณะประติมากรรมปูนปั้นรูปยักษ์ วัดอุโมงค์ ยึดตามรูปแบบศิลปกรรมเดิม



           นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การบูรณะประติมากรรมปูนปั้นยักษ์ วัดอุโมงค์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยนายชินณวุฒิ วิลยาลัย ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้รายงานว่า การบูรณะประติมากรรมปูนปั้นรูปยักษ์เฝ้ารักษาประตูทางเข้าสู่พระธาตุวัดอุโมงค์ บริเวณเชิงบันไดด้านทิศตะวันออกของทางเข้าพระธาตุวัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) ดำเนินการในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 โดยประติมากรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานวัดอุโมงค์ ซึ่งเป็นโบราณสถานที่ยังมีการใช้ประโยชน์ในการประกอบศาสนกิจ มีพระภิกษุจำพรรษา มีผู้มาแสวงบุญและมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมอย่างต่อเนื่อง 
            สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้เสนอแนวคิดในการบูรณะเป็นสองแนวทาง ได้แก่ แนวคิดที่ 1 บูรณะโดยการอนุรักษ์และรักษาสภาพของยักษ์ทั้ง 2 ตนไว้ โดยการทำความสะอาด เสริมความมั่นคง และรักษาสภาพดั้งเดิมไว้ ไม่มีการต่อเติมประติมากรรมที่ชำรุดให้สมบูรณ์ แต่เมื่อประเมินสภาพประติมากรรมที่ชำรุดอย่างมากการอนุรักษ์ตามแนวทางนี้ อาจจะรักษาประติมากรรมดังกล่าวได้เพียงระยะหนึ่ง เนื่องจากเป็นประติมากรรมที่ตั้งอยู่กลางแจ้ง หากในอนาคตที่มีปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม เช่น ฝนตกหนัก แผ่นดินไหว ขาดการดูแลรักษาปล่อยให้วัชพืชขึ้น ก็จะเป็นปัจจัยที่เร่งให้เกิดการชำรุดและอาจพังทลายลง ส่วนแนวคิดที่ 2 บูรณะโดยการฟื้นคืนสภาพและรูปแบบดั้งเดิมของประติมากรรมรูปยักษ์ เมื่อพิจารณาสภาพก่อนการบูรณะ ซึ่งมีหลักฐานทางศิลปกรรมหลงเหลืออยู่มากกว่า 80% ประกอบกับการวิเคราะห์การเสื่อมสภาพของวัสดุเดิม สภาพแวดล้อมโดยรอบ ปัจจัยความเสี่ยงอื่นในอนาคตที่จะเร่งให้เกิดความเสียหาย การใช้ประโยชน์ของโบราณสถานในปัจจุบัน  คติความเชื่อ  อีกทั้งที่ผ่านมากรมศิลปากรมีการเลือกแนวทางการบูรณะแบบฟื้นคืนสภาพนี้มาแล้วหลายแห่ง เช่น องค์พระมงคลบพิตร ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา องค์พระอจนะ วัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย จึงพิจารณาเลือกดำเนินการบูรณะในแนวคิดที่ 2 
          ทั้งนี้ วิธีการอนุรักษ์ประติมากรรมยักษ์ 2 ตน โดยการฟื้นคืนสภาพ ได้ดำเนินการตามหลักการอนุรักษ์โดยล้างทำความสะอาดคราบเชื้อรา ตะไคร่น้ำ และวัชพืชออก ผนึกปูนปั้นเดิมด้วยการไล้ผิวด้วยน้ำปูน หลังจากนั้นไล้ผิวด้วยปูนหมักเพื่อให้ผิวประติมากรรมที่มีรอยร้าวผสานเข้ากับปูนปั้นที่ใช้ในการบูรณะ โดยให้คงชั้นความหนาของปูนปั้นเดิมให้มากที่สุด  เพื่อให้ขนาดของประติมากรรมหลังจากการบูรณะไม่เปลี่ยนแปลงไป และวิธีการนี้ยังช่วยป้องกันน้ำฝนที่จะซึมเข้าสู่ภายในองค์ยักษ์ อันเป็นปัจจัยที่ทำให้เสื่อมสภาพอย่างรวดเร็วอีกด้วย ทั้งนี้ได้ปั้นปูนใหม่เสริมในส่วนที่ขาดหาย เสริมโครงสร้างใหม่ (แขน) เชื่อมต่อโครงสร้างเดิมและปั้นปูนตกแต่งตามล้อตามลวดลายเดิมที่ปรากฏอยู่ (บริเวณใบหน้า , หู , ปาก ฯลฯ) และตกแต่งผิวให้เรียบ ส่วนกระบอง ไม่พบหลักฐานที่แตกหักหรือตกหล่นอยู่บริเวณนี้ จึงออกแบบให้เป็นกระบองแบบผิวเรียบ (มีเกลียวเล็กน้อย) และขนาดตามสัดส่วนของรูปยักษ์
           อธิบดีกรมศิลปากรกล่าวอีกว่า สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้หารือแนวทางการบูรณะกับทางจังหวัดก่อนที่จะดำเนินการ โดยปฏิบัติตามตามมาตรฐานการบูรณะประติมากรรม มีการสำรวจตรวจสภาพโบราณสถาน  ลักษณะความเสียหาย  ภูมิประเทศสภาพแวดล้อม  ปัจจัยองค์ประกอบที่เร่งในการชำรุดเสียหายของโบราณสถาน  ศึกษาเปรียบเทียบวิเคราะห์ศิลปกรรมที่มีอยู่หรือสร้างอยู่ในยุคเดียวกัน อีกทั้งประเมินแนวคิด ความเสี่ยง ความคุ้มค่า การบริหารจัดการในอนาคต มีการศึกษารูปแบบศิลปกรรมเดิม และคัดเลือกช่างท้องถิ่นที่เป็นช่างฝีมือที่เหมาะสมเข้ามาดำเนินการบูรณะ ซึ่งการบูรณะในครั้งนี้ ได้ให้หอจดหมายเหตุเชียงใหม่เข้าบันทึกภาพและขั้นตอนต่าง ๆ ไว้เป็นหลักฐานสำหรับเป็นข้อมูลในการศึกษาและการบูรณะที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต  












(จำนวนผู้เข้าชม 215 ครั้ง)

Messenger