พิธีเปิดนิทรรศการพิเศษ เรื่อง "เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม" เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช ๒๕๖๗

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดนิทรรศการพิเศษ เรื่อง เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช ๒๕๖๗ 





           วันพุธที่ ๒๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗) เวลา ๑๔.๓๐ น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดนิทรรศการพิเศษ เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช ๒๕๖๗ เรื่อง “เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม” ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยมี นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารและข้าราชการกระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร เฝ้าฯ รับเสด็จ






           นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กราบบังคมทูลรายงานวัตถุประสงค์การจัดนิทรรศการฯ  และขอพระราชทานพระราชานุญาตทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแผ่นทองคําจารึกพระราชสมัญญา “พระอัครราชูปถัมภิกาการจดหมายเหตุไทย” (พระ-อัก-คะ-ระ-รา-ชู-ปะ-ถำ-พิ-กา-การจดหมายเหตุไทย)ด้วยสํานึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อการจดหมายเหตุไทย นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กราบบังคมทูลเบิกผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่นและผู้สนับสนุนการดำเนินงานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๗ ได้แก่ พระภิกษุ จำนวน ๕ รูป และบุคคลทั่วไป จำนวน ๓๑ ราย เข้ารับพระราชทานเข็มเกียรติคุณวันอนุรักษ์มรดกไทย จากนั้นเสด็จฯ ไปยังพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ทรงตัดแถบแพรเปิดนิทรรศการ และทอดพระเนตรนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช ๒๕๖๗ โอกาสนี้ ทรงเขียนไปรษณียบัตรที่ระลึก จำนวน ๒ แผ่น และทรงหย่อนไปรษณียบัตรลงในตู้ไปรษณีย์ด้วย







            คณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์มรดกไทย มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร จัดนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช ๒๕๖๗ เรื่อง “เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม” เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการเรียนรู้และตระหนักถึงคุณค่าของเอกสารสำคัญในความดูแลของกรมศิลปากร นิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวการเปลี่ยนผ่านจากรัฐจารีตแบบดั้งเดิม สู่การเป็นรัฐสมัยใหม่ในห้วงศตวรรษที่ผ่านมา โดยจัดแสดงเอกสารต้นฉบับ ๔๑ ชุด กว่า ๒๐๐ รายการ ที่ล้วนเป็นเอกสารทรงคุณค่าสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งหลายฉบับยังไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อน











แบ่งการจัดแสดงออกเป็น ๖ หัวข้อ ได้แก่ 

            ๑. “จารจารึก บันทึกสยาม” เป็นชุดเอกสารโบราณที่บันทึกอยู่ในรูปของศิลาจารึก หนังสือสมุดไทย และเอกสารใบลาน ได้แก่ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ นันโทปนันทสูตรคำหลวง คัมภีร์อัลกุรอาน ไตรภูมิฉบับพระมหาช่วยจารที่วัดปากน้ำ จินดามณี จุลศักราช ๑๑๔๔ รามเกียรติ์ บทละครพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ หนังสือสมุดไทย เรื่อง สามก๊ก มหาชาติคำหลวง และ    อุรังคธาตุ ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาพเค้าโครงทางประวัติศาสตร์ช่วงสมัยสุโขทัยจนถึงก่อนการปฏิรูปประเทศในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  

            ๒. “แผนภูมิของแผ่นดิน” จัดแสดงแผนที่โบราณของประเทศไทย ประกอบด้วย แผนที่สมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ และตราประจำจังหวัด 

            ๓. “นิติสารเมื่อเพรงกาล เล่าขานประวัติศาสตร์ไทย” นำเสนอเอกสารด้านกฎหมายและความ สัมพันธ์ระหว่างประเทศ อาทิ กฎหมายตราสามดวง สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง เอกสารเกี่ยวกับการเลิกทาส 

            ๔. “เมื่อแรกมีการพิมพ์” จัดแสดงชุดเอกสารกลุ่มแรก ๆ ในสังคมไทยที่เปลี่ยนจากการจดจารด้วยวัสดุและเทคนิคแบบโบราณ มาเป็นการบันทึกด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบตะวันตก เช่น หนังสือจดหมายเหตุบางกอกรีคอร์เดอร์ คัมภีร์ครรภ์ทรักษา ราชกิจจานุเบกษา รัชกาลที่ ๔  

           ๕. “ต้นร่างสร้างเมือง เรืองรองศิลปกรรม” จัดแสดงเอกสารการออกแบบก่อสร้างอาคารสถานที่สำคัญต่าง ๆ ตามรูปแบบตะวันตก เช่น แบบแปลนวังพญาไท แบบยอดพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท แบบหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แบบก่อสร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

           ๖. “ด้วยความทรงจำอันงดงามและความคิดถึง” ย้อนระลึกถึงวันวานกับของสะสมในความทรงจำ ที่สะท้อนให้เห็นว่าวัฒนธรรมตะวันตกได้มีอิทธิพลมาสู่วิถีชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคมไทยอย่างแพร่หลาย เช่น การเขียนจดหมาย การส่งไปรษณียบัตร 

           ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช ๒๕๖๗ เรื่อง “เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม” ระหว่างวันที่ ๒๘ มีนาคม - ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๗ เวลา ๐๙.๐๐ น. - ๑๖.๐๐ น. (ปิดวันจันทร์ – วันอังคาร) ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

(จำนวนผู้เข้าชม 655 ครั้ง)

Messenger