...

กระซิบรัก
14 กุมภาพันธ์
สุขสันต์วันแห่งความรัก “วันวาเลนไทน์”
คำฮักน้องกูปี้จักเอาไว้ในน้ำก็กลัวหนาว
จักเอาไว้พื้นอากาศกลางหาว
ก็กลัวหมอกเหมยซอนดาวลงมาคะลุม
จักเอาไปใส่ในวังข่วงคุ้ม
ก็กลัวเจ้าปะใส่แล้วลู่เอาไป
ก็เลยเอาไว้ในอกในใจตัวชายปี้นี้
จักหื้อมันไห้อะฮิอะฮี้
ยามปี้นอนสะดุ้งตื่นเววา
แปลว่า ความรักของพี่จะเอาฝากไว้ในน้ำก็กลัวน้องจะเหน็บหนาว จะฝากไว้กลางท้องฟ้าก็กลัวเมฆหมอกมาปกคลุมความรักของพี่ จะเอาไปฝากไว้ในวังในคุ้มเจ้าหลวง ก็กลัวเจ้านายมาเจอะเจอก็จะชิงเอาไป ก็เลยฝากไว้ในอกในใจของพี่ ให้มันร้องไห้กระซิกกระซี้ถึงน้องไม่ว่ายามพี่นอนหลับหรือสะดุ้งตื่นก็ตาม
เมื่อทุกท่านมาเยี่ยมชมวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน พลาดไม่ได้จะต้องไปเยียมชม และถ่ายภาพ “กระซิบรัก” ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ หรือจุดเน้นที่สำคัญมามาเยือน โดยภาพดังกล่าวมีอักษรธรรมล้านนา หรือตัวเมืองสีขาว ระบุที่ด้านบนของภาพว่า “ปู่ม่าน ย่าม่าน” โดยคำว่าปู่ ย่า หมายถึง ผู้ชาย ผู้หญิง /พ่อ แม่ ส่วนคำว่า ม่าน หมายถึง พม่า เป็นภาพชายหนุ่มกับหญิงสาวกำลังทำท่าทาง “กระซิบกระซาบ” กัน จนเป็นที่มาของคำว่า #กระซิบรัก #กระซิบรักน่าน #กระซิบรักบันลือโลก
ภาพจิตรกรรมสันนิษฐานว่าเขียนขึ้นเมื่อครั้งการบูรณะใหญ่ใสมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน เมื่อปี พ.ศ. 2410-2417 หรือหลังจากนี้เล็กน้อย โดย “หนานบัวผัน” โดยลักษณะของภาพวาดอยู่ด้านทิศตะวันตกของวิหาร ด้านซ้ายมือของประตูเมื่อมองจากมุมมองด้านใน ซึ่งผนังด้านทิศตะวันตกด้านบนสุดเล่าเรื่อง “พุทธประวัติ ตอน ปริพนิพพาน” ล่างลงมาเล่าเรื่อง “เนมิราชชาดก” โดยพระเจ้าเนมิราชเสด็จไปยัง “สวรรค์” และ “นรก” ส่วนภาพ “ปู่ม่าน ย่าม่าน” นั้นเป็นภาพประกอบเสริม หรือ “ภาพกาก” ที่ประกอบเรื่องราวเล่าเรื่องวิถีชีวิต สภาพบ้านเมือง
ลักษณะการแต่งกายของ “ปู่ม่าน ย่าม่าน” ผู้หญิงไว้ผมยาว เก้ามวยผม ปลายผมทิ้งชาย ที่มวยปักปิ่นผม ใส่ลานหู หรือ ด็อกหู แสดงฐานะทางสังคม รัดอกด้วยผ้าคาดอก เสื้อนอกสวม “เสื้อปั๊ด” หรือ “เสื้อป้าย” นักวิชาการบางท่านเสนอว่าเป็นอิทธิพล “ไทลื้อ” สวมกำไล แหวน นุ่งซิ่น “ลุนตยา” ยาวคลุมเท้าเปิดด้านหน้า “ลุนตยา” เป็นชื่อผ้าทอโบราณพื้นเมืองของประเทศ “พม่า” หรือเมียนมาในปัจจุบัน ส่วนผู้ชายไม่สวมเสื้อ คาดผ้าเคียนหัว หรือคาดผ้าคาดหัว เรียก “เก้าเบ้า” หรือ “ก้องบ้อง” การโพกผ้าไว้เพื่อเก็บผมให้ดูเรียบร้อย ผมเป็นมวยไว้ได้บน ไว้หนวดตกแต่งหนวดแหลม เจาะหู สำหรับใส่ลานหู ที่ผิวหนังส่วนตัวมีรอยสักสีแดง หรือสักครั่ง เป็นรูปบุคคล ตั้งแต่เอวไปจนถึงหัวเข่าสักดำ เป็นรูป หนุมาน สัตว์มงคล และคลายคลื่น นุ่งผ้าลุนตยาถกร่นขึ้นสูง คล้ายนุ่งหยักรั้งของไทย เพื่อโชว์หรือแสดงให้เห็นรอยสัก ล้านนาเรียกการนุ่งแบบนี้ว่า นุ่งผ้าต้อย นุ่งเก็นม่าน (นุ่งแบบพม่า)
คำพูดข้างต้นมาจาก “โวหารคำเจรจาของหนุ่มสาว” หรือ “คำอู้บ่าว อู้สาว” โดย “คำช้อย” คือ บทขับ (ที่มีสำนวนอารมณ์) ปกติแล้วหนุ่มๆ มักจะขับบทประพันธ์ประเภทคร่าวด้วยลีลาที่เรียกว่า ช้อย เพื่อบ่งบอกความรู้สึกเชิงถวิลหวังให้ได้ยินไปถึงหญิงสาวที่ตนหมายปอง โดยเฉพาะเมื่อเข้าไปใกล้บ้านของหญิงสาวที่มาดหมาย “ช้อยเชียงแสน” เป็นทำนองเชียงแสนโบราณ อันมีลีลาพิเศษ
โดยสำนวนที่ปรากฏในปัจจุบันเกิดจาก อาจารย์สมเจตน์ วิมลเกษม ได้นำมาบรรยาย พรรณนา ประกอบภาพกระซิบรัก ปู่ม่าน ญ่าม่าน จนโด่งดังไปทั้งประเทศ โดยนำมาจากช้อยเชียงแสนที่ว่า
คํารักคูพี่นี้
จักเอาไว้ในน้ำก็กลัวหนาว
จักเอาไว้พื้นอากาศกลางหาว  
ก็กลัวเดือนดาว ลงมาแวดอุ้ม
จักเอาไว้กลางปราสาทข่วงคุ้ม  
ก็กลัวเจ้ามาปะใส่ แล้วลู่เอาไพ
จึงเอาเก็บไว้ในอกในใจคูพี่นี้
หื้อมันให้อะฮิอะฮิ้
ยามเมื่อคูพี่นอนสะดุ้งตื่น เววา
เอกสารอ้างอิง
อุดม รุ่งเรืองศรี. โวหารโบราณ (เพลงละอ่อน, ปริศนา-คำทาย, คำอู้บ่าว-อู้สาว, สุภาษิต). เชียงใหม่ : มิ่งเมือง 2795. 2554.







(จำนวนผู้เข้าชม 5480 ครั้ง)


Messenger