...

เรือครุฑเหินเห็จ และ เรือครุฑเตร็จไตรจักร

          ชื่อเรือ 2 ลำนี้สะท้อนถึงอิทธิพลคัมภีร์ปุราณะของอินเดียที่มีต่อคตินิยมและศิลปกรรม ไทย ตามคัมภีร์ปุราณะครุฑเป็นเจ้าแห่งนกทั้งหลาย หรือเทพปักษิน ซึ่งผูกพันกับพระวิษณุ เพราะพระวิษณุทรงท่องไปในสวรรค์โดยมีครุฑเป็นพาหนะ

          ชื่อเรือ 2 ลำนี้สะท้อนถึงอิทธิพลคัมภีร์ปุราณะของอินเดียที่มีต่อคตินิยมและศิลปกรรมไทย ตามคัมภีร์ปุราณะครุฑเป็นเจ้าแห่งนกทั้งหลาย หรือเทพปักษิน ซึ่งผูกพันกับพระวิษณุ เพราะพระวิษณุทรงท่องไปในสวรรค์โดยมีครุฑเป็นพาหนะ กล่าวกันว่า ครุฑสามารถเปลี่ยนแปลงตนให้เป็นรูปร่างต่างๆ นานาและสามารถไปได้ในทุกหนแห่งตามปรารถนา ครุฑเป็นศัตรูกับนาคหรือบรรดางูทั้งหลาย เนื่องมาจากมารดาของทั้งสองฝ่ายวิวาทกัน ดังนั้นในศิลปกรรมของศาสนาฮินดูและพระพุทธศาสนา ครุฑจึงมักปรากฏในท่าที่ฉวยจับนาคไว้ ไม่ว่าจะเป็นนาคเพียงตัวเดียวหรือหลายตัว ไทยเราเรียกว่า ครุฑยุดนาค

          โขนเรือทั้งสองลำเป็นไม้จำหลักรูปครุฑจับนาค ๒ ตัวชูขึ้น ลงรักปิดทองประดับกระจก เรือครุฑเหินเห็จ ครุฑกายสีแดง ส่วน เรือครุฑเตร็จไตรจักร ครุฑกายสีชมพู

          เรือ 2 ลำนี้สร้างครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  (พุทธศักราช 2325 - 2352) แต่ชื่อเรือครุฑเหินเห็จ ใช้ชื่อว่า เรือครุฑเหิรระเห็จ เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดจากอากาศยานที่ถล่มกรุงเทพมหานครสร้างความเสียหายให้กับเรือพระราชพิธีทั้ง 2 ลำนี้มาก ดังนั้นในพุทธศักราช 2508 กองทัพเรือและกรมศิลปากรจึงร่วมกันบูรณะเรือสองลำนี้ใหม่โดยใช้หัวเรือเดิมมาประกอบ

          เรือแต่ละลำมีความยาว 28.58 เมตร กว้าง 2.10 เมตร ลึกถึงท้องเรือ 56 เซนติเมตร มีกำลังพลประกอบด้วยฝีพาย 34 คน นายเรือ 1 คน นายท้าย 2 คน คนถือธงท้าย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนกระทุ้งเส้า (ให้จังหวะ) 2 คน


ที่มา: http://www.virtualmuseum.finearts.go.th/royalbarges

(จำนวนผู้เข้าชม 277 ครั้ง)


Messenger