ขอเชิญสักการะพระพุทธรูป “พุทธบูชานาคสัมพัจฉร์ ๒๕๖๗” เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่



           วันพุธที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๖ เวลา ๑๔.๐๙ น. นายเสริมศักดิ์  พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม และกรมศิลปากร ร่วมสักการะพระพุทธรูป “พุทธบูชานาคสัมพัจฉร์ ๒๕๖๗” เป็นปฐมฤกษ์ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
            เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๖๗ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้จัดกิจกรรมสักการะพระพุทธรูป “พุทธบูชานาคสัมพัจฉร์ ๒๕๖๗” (พุด–ทะ–บู–ชา–นา–คะ–สำ–พัด) อัญเชิญพระพุทธรูปที่มีคติการสร้างเกี่ยวข้องกับพญานาค โดยมีพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ตามตำนานปั้นหล่อจากต้นแบบนาคแปลงนิมิตสำแดงพระพุทธลักษณะ เป็นประธาน พร้อมด้วยพระพุทธรูปอีก ๙ องค์ ที่จัดแสดงและสงวนรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จำนวน ๗ องค์ คลังกลางพิพิธภัณฑสถาน
แห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี ๑ องค์ และวัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ จำนวน ๑ องค์ มาประดิษฐานให้ประชาชนได้สักการบูชา เพื่ออำนวยความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลในวาระแห่งการเริ่มต้นศักราชใหม่ ประกอบด้วย 
           ๑. พระพุทธสิหิงค์ ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๒๐ 
 

           ๒. พระพิมพ์ปางมหาปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถี ศิลปะศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔

           ๓. พระไภษัชยคุรุนาคปรก ศิลปะลพบุรี  พุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘

           ๔. พระรัตนตรัยมหายาน ศิลปะลพบุรี พุทธศตวรรษที่ ๑๘
           ๕. พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะอยุธยาตอนกลาง พุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒

           ๖. พระบัวเข็ม ศิลปะพม่า พุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๔

           ๗. พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์นาคปรก ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔


           ๘. พระพุทธรูปนาคปรกไม้จันทน์ ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕


           ๙. พระพุทธรูปนาคปรกนอระมาด ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕ 


           ๑๐. พระนิรโรคันตราย ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศักราช ๒๕๔๕
           ขอเชิญพุทธศาสนิกชนสักการะพระพุทธรูป “พุทธบูชานาคสัมพัจฉร์ ๒๕๖๗” ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๖ ถึงวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๖๗ เวลา ๐๙.๐๐ น. – ๑๖.๐๐ น. ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ (วันที่ ๒๙ – ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๖ เปิดให้สักการะถึงเวลา ๒๐.๐๐ น.)


(จำนวนผู้เข้าชม 570 ครั้ง)

Messenger