...

เรือยาว มรดกวัฒนธรรมแห่งสายน้ำ
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร ขอนำเสนอองค์ความรู้ในหัวข้อ “เรือยาว มรดกวัฒนธรรมแห่งสายน้ำ”
เรือยาว เรือแข่ง เป็นเรือขุดด้วยไม้ซุงทั้งต้น ซึ่งเรือขุดเป็นเรือในยุคแรกที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อนำมาใช้เป็นพาหนะในการสัญจรทางน้ำ โดยใช้ต้นไม้ทั้งต้นที่มีขนาดใหญ่ และลอยน้ำได้ เช่น ในประเทศไทยมีต้นสัก ต้นตะเคียน ต้นตาล แล้วใช้แรงงานคนและเครื่องมือที่มีจำกัด ในการตัดและขุดเรือมาใช้งาน
โดยเลือกจากไม้ตะเคียนลำต้นตรงไม่มีตาหรือรูรอยแตกร้าว โขนหัว-ท้ายใช้ไม้ต่อให้งอนสวยงาม ท้ายเรือจะงอนมากกว่าหัวเรือ มีกระทงที่นั่ง ของฝีพายจำนวนตามต้องการ และตามขนาดของเรือ คือ ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ซึ่งมีได้ถึง ๕๐ ฝีพาย มีความยาวประมาณ ๑๖-๒๕ เมตร กลางลำเรือขันชะเนาะด้วยไม้ไผ่ทั้งลำ เพื่อให้ตัวเรือแข็งแรง มากขึ้น 
การขุดเรือยาวในสมัยก่อนจะต้องเลือกไม้ตะเคียนที่มีลักษณะดี ลำต้นตรง ก่อนโค่นจะตั้งศาลเพียงตาทำพิธีเชิญนางตะเคียน มาประทับ เมื่อจะลากไม้มาที่วัด ต้องมีการจัดเครื่องบวงสรวงเทวดาเจ้าป่าเจ้าเขา และชาวบ้านจะร่วมมือร่วมใจกันขุด โดยใช้ชื่อวัดเป็นชื่อเรือหรือชื่อคณะที่ส่งเข้าแข่งขัน เมื่อขุดเรือเสร็จแล้วจึงทำพิธีบวงสรวงผูกผ้าแพรหลากสี เชิญแม่ย่านาง ลงประทับในเรือ ก่อนทำพิธีปล่อยลงน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคล 
ในสมัยก่อนการฝึกซ้อมเรือ และการแข่งขันเรือระหว่างตำบล หรือหมู่บ้าน ถือเป็นการสร้างความสามัคคีของหมู่คณะ และเป็นงานรื่นเริงประจำปี นอกจากนี้ การเดินทัพทางเรือสมัยโบราณ ก็ใช้การฝึกซ้อมฝีพาย ซึ่งในยามปกติเป็นชาวบ้าน ยามมีศึกสงครามก็เป็นทหารรับใช้ชาติ
-------------------------------------
*** โบราณวัตถุ เครื่องมือ การขุดเรือ ***
ชิ้นที่ ๑ 
ชื่อวัตถุ : แมะ
ขนาด : ยาว ๑๕.๙ ซม. กว้าง ๑๒.๑ ซม.
รูปแบบลักษณะ : รูปร่างคล้ายจอบมีคมด้านเดียว ตัวแมะโค้งมีบ่า ด้านข้างงุ้มเข้า สันมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมหนา มีรูสำหรับใส่ด้าม มีด้ามสั้นทำด้วยไม้ ภาษาถิ่นเรียก แมะ หรือกระแมะ
ชิ้นที่ ๒
ชื่อวัตถุ : แมะ
ขนาด : ยาว ๑๖.๕ ซม. กว้าง ๕.๑ ซม.
รูปแบบลักษณะ : เป็นเครื่องมือขุดเรือ ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวแมะโค้งทำคมด้านเดียว ผายออกเล็กน้อย สันหนา มีรูสำหรับใส่ด้าม
ชิ้นที่ ๓
ชื่อวัตถุ : ขวานปลี
ขนาด : ยาว ๓๐ ซม. กว้าง ๓.๙ ซม.
รูปแบบลักษณะ : ลักษณะคล้ายเสียม มีคมสองด้านอยู่ส่วนปลาย สันยาวมีลักษณะคล้ายลิ่มกลมแหลม ผูกติดกับด้าม ด้ามทำด้วยไม้ งอเป็นมุมฉาก เซาะร่องโค้งเพื่อยึดสันขวาน ผูกมัดไว้ด้วยหวาย
-------------------------------------
*** การขุดเรือ *** 
การขุดเรือในประเทศไทยมีอยู่ทั่วไป เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตที่ราบลุ่มน้ำ จังหวัดชุมพรไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า มีการขุดเรือใช้แต่สมัยใด การขุดเรือที่รู้จักกันแพร่หลายมีสองแบบคือ เรือขุดเบิกขวาน และเรือขุดเบิกไฟการกำหนดสัดส่วนของเรือ เพื่อทำการฟันเรือได้รูปร่างสมส่วนตามที่ต้องการ โดยมีวิธีการตีเส้นกึ่งกลางลำเรือและแบ่งออกเป็นสี่ส่วน ส่วนที่แบ่งครึ่งลำเรือเรียกว่า ส่วนห้า ส่วนที่แบ่งครึ่งของส่วนห้าเรียกว่า ส่วนสาม
    การขุดเรือเบิกขวาน ใช้ขวานหลายแบบ แต่งจากไม้ทั้งต้นจนเป็นเรือที่สมบูรณ์แบบปัจจุบันช่างใช้วิธีนี้กับการขุดเรือขนาดเล็ก ยาวประมาณ ๘ - ๙ ศอก เมื่อได้ไม้ตามขนาดที่ต้องการแล้วผ่าครึ่งไม้ซุงออกเป็นสองส่วนเท่า ๆ กัน โดยใช้เลื่อย
    การโกลนเรือ เริ่มต้นด้วยการตีเส้นตามยาว ไม้กลางลำเรือและเส้นด้านข้าง โดยเส้นข้างจะห่างจากริมปีกไม้ประมาณ ๔ - ๕ นิ้ว แล้วแบ่งส่วนครึ่งไม้เรียกว่า ส่วนห้า แล้วลากเส้นทะแยงมุมจากจุดที่กำหนดห่างจากหัวเรือประมาณหนึ่งศอก เส้นนี้จะช่วยการขึ้นเรือได้ จากนั้นใช้ขวานโกลนให้เป็นรูปเรือเมื่อได้รูปเรือที่โกลนแล้วใช้กระแมะขุดไม้ให้ได้รูปเรือตามต้องการ เนื่องจากกระแมะมีลักษณะโค้ง จึงทำให้ท้องเรือที่ขุดมีลักษณะโค้งมนได้รูปทั้งด้านนอก และด้านในลำเรือ ความหนาของเรือเมื่อขุดเสร็จแล้ว ๒ เซนติเมตร หัวเรือยาวประมาณ ๑ ศอก (เรือเล็ก) ความหนาของหัวเรือหนาประมาณ ๗ - ๘ นิ้ว การกำหนดความหนาของเรือใช้วิธีเจาะรูสัก วิธีเจาะรูสัก ใช้เหล็กไชเพื่อกะระยะความหนาของเรือโดยให้ห่างเป็นระยะ ๆ พอประมาณ บริเวณที่ขุดยากที่สุดคือ ส่วนที่ประจบกันของหัวเรือ ที่เป็นซองซึ่งเล็กเรียวและแคบ ต้องใช้ความชำนาญจึงจะขุดได้สวยงามเรือขนาด ๘ - ๙ ศอก ใช้เวลาขุดประมาณ ๑ สัปดาห์ เรือเมื่อขุดเสร็จแล้วต้องลงน้ำมันชันเพื่อรักษาเนื้อไม้ และใส่กระทงให้เรียบร้อย
    การขุดเรือเบิกไฟ จะใช้ไม้ทั้งต้น โดยตัดหัวและท้ายเรือให้ได้ขนาด เริ่มการขุดเรือด้วยการเปิดปีกไม้ตามยาวให้เรียบ กว้างประมาณ ๑๐ - ๑๕ เซนติเมตร ลากเส้นกลางหน้าไม้ที่เปิดไว้ แล้ววัดขนาดของหัวเรือท้ายเรือให้ได้ขนาดตามที่กำหนดไว้ แล้วใช้ขวานปลีในการขุด ร่องฝั่น คลอดลำเรือ เว้นแต่หัวเรือและท้ายเรือ ร่องฝั่นมีความลึกประมาณ หนึ่งศอก กว้างประมาณ หนึ่งคืบ จากนั้นให้คว่ำเรือลงแล้วพันแก้มหมูคือ การแต่งหัวเรือและท้ายเรือส่วนที่เหลือเมื่อขั้นตอนนี้เสร็จจะเห็นเป็นรูปร่างเรือชัดเจนขึ้น ตัดหลังให้เสมอกัน แต่งผิวให้เรียบตรงแนวเส้นผ่ากลางไม้ แล้วใช้กระแมะขุดเรือส่วนหัวและท้ายเรือ ตั้งแต่ส่วนสามถึงส่วนห้า คือส่วนที่ขุดร่องฝั่นไว้แล้วเรียกว่า เว้นแขนช้าง ใช้ขวานปลีขุดท้องเรือเข้าไป ขุดในร่องฝั่นตั้งแต่ส่วนสามถึงส่วนห้า ให้ได้ท้องเรือที่กลม ด้านหน้าตัด ลักษณะท้องเรือจะมีรูปคล้ายตัว C
    การตีไฟป่า เป็นวิธีการขั้นต่อมา โดยใช้ไฟในการขยายความกว้างของลำเรือ โดยจะใช้เศษไม้ที่เหลือจากการขุดและโกลนเรือ และจุดไฟในท้องเรือที่เป็นรูปตัว C เมื่อไม้ถูกความร้อนก็จะอ่อนตัวให้ใช้ไม้ตัดเป็นท่อน ๆ ทำเป็นกระทง เพื่อใช้ดันแคมเรือให้ขยายออกโดยจะใช้ไม้ค่อยตีเปลี่ยนขนาดไปตามลำดับ จนกว่าท้องเรือจะขยายจนได้ที่ แล้วใช้กระแมะขุดแต่งในอีกครั้งหนึ่ง ให้ได้ท้องเรือที่กลมมน คว่ำเรือลงแล้วใช้กระแมะปัดหลังอีกครั้งหนึ่ง
    การตีไฟป่าครั้งที่สอง หงายเรือขึ้นแล้วใช้ไฟรมหลัง คือ การก่อไฟรอบ ๆ ลำเรือ แล้วใช้กระทงขยายแคบแรืออีกครึ้งหนึ่ง เมื่อได้ขนาดเรือตามต้องการแล้ว ให้ใช้กระแมะ แต่งในอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้ได้ความหนาของเรือมีขนาดเท่ากันตลอดทั้งลำเรือ ใช้วิธีไชรูสิ่ว อุดรูดัน ขั้นตอนนี้มีความสำคัญมากในการขุดเรือ เพราะเป็นการกำหนดความหนาของเรือ ซึ่งจะต้องเท่ากันทั้งสองข้างลำเรือ
#การอุดรูดัน มีวิธีการคือ เหลาไม้ดัน (เป็นไม้ชนิดเดียวกับเรือ) เมื่อตอกเข้าไปแล้วต้องอุดรูดันแนบสนิท ชนิดลมไม่ลอดการไชรูสิ่วต้องไชตลอดทั้งลำเรือ เว้นเป็นระยะเพื่อให้ได้ความหนาของเรือตามที่ต้องการ การตัดไม้ดันต้องให้เท่ากับส่วนความหนาของเรือตามที่ต้องการ ต้องขุดให้ถึงรูดันที่อุดไว้ หลังจากที่ได้เรือตามขนาดและรูปร่างที่ต้องการและใช้กบมือในการเกลาเรือให้เรียบร้อยสวยงาม จากนั้นจึงใส่กระทงเรือเพื่อป้องกันเรือเสียรูปบิดเบี้ยวไป
    การยาชัน ใช้ผงชันผสมน้ำมันยาง นวดให้เข้ากันจนเหนียวปั้นได้ ยาทับรอยแตกรั่วต่าง ๆ แล้วลงน้ำมันยาง ด้วยการนำน้ำมันยางมาทาให้ทั่วทั้งลำเรือ เป็นการรักษาเนื้อไม้ให้คงทนยิ่งขึ้น
ความเชื่อเกี่ยวกับการขุดเรือ นายช่างขุดเรือจะนำเครื่องมือขุดเรือมาทำพิธีไหว้ครูอาจารย์ หรือบรรพบุรุษที่ถ่ายทอดวิชาช่าง วันทำพิธีคือ วันที่มีประเพณีการตั้งตายาย ซึ่งจะทำกันที่บ้าน ในวันขึ้น สิบห้าค่ำ เดือนสี่ และเมื่อต้องเดินทางไปขุดเรือในที่ต่าง ๆ ก่อนเริ่มลงมือขุด ต้องมีการจุดธูปบอกกล่าวแก่บรรพบุรุษหรือครู ที่ทำการสอนช่างมา เพื่อให้การขุดเรือสำเร็จลุล่วงด้วยดี
    การใส่กระทงเรือ มีข้อห้ามไว้ว่าห้ามใส่ตรงกับส่วนสาม และส่วนห้า และต้องใส่กระทงให้เป็นจำนวนคู่เท่านั้น ดังคำที่ว่า บ้านคี่เรือคู่ (บันไดบ้านต้องมีจำนวนคี่) ห้ามไม่ให้ผู้อื่นมาติชมหรือแสดงความคิดเห็นขณะกำลังขุดเรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขุดเรือเบิกไฟเพราะจะทำให้เรือเสียรูปทรงได้
-------------------------------------
*** มรดกวัฒนธรรมแห่งลุ่มแม่น้ำหลังสวน ๑๘๐ ปี งานประเพณีแห่พระ-แข่งเรือขึ้นโขนชิงธง ณ แม่น้ำหลังสวน อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ระหว่างวันที่ ๓๐ ตุลาคม – ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ *** ติดตามข่าวสารได้ที่เพจ ขึ้นโขนชิงธง อ.หลังสวน
จังหวัดชุมพรมีตำนานการแข่งขันเรือยาว ขึ้นโขนชิงธง อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร  เป็นการดำเนินชีวิตของคนไทยในอดีตที่มีความผูกพันกับสายน้ำมาเนิ่นนาน เมืองหลังสวนมีแม่น้ำไหลผ่านใช้เป็นเส้นทางสัญจรไปมา และการขนถ่ายสินค้าเพื่อการค้าขาย โดยพาหนะที่ใช้คือ "เรือ" ซึ่งมีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยมาอย่างยาวนานการแข่งขันเรือยาวขึ้นโขนชิงธงของอำเภอหลังสวน สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๓๘๗ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามหลักฐานที่อ้างอิง คือ พ.ศ. ๒๔๓๒ (ร.ศ.๑๐๘) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสทางชลมารคถึงเมืองหลังสวน เจ้าเมืองหลังสวนพระยาจรูญราชโภคากร (คอซิมเต็ก ณ ระนอง) ได้จัดขบวนเรือรับเสด็จ เรือนำในการรับเสด็จ คือ "เรือมะเขือยำ" สังกัดวัดดอนชัย เป็นเรือยาวที่ใช้ในการแข่งขันและครองความชนะเลิศอยู่เสมอ การแข่งขันเรือยาวขึ้นโขนชิงธงของอำเภอหลังสวน จะเริ่มขึ้นในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันออกพรรษาของทุกปี เพราะในวันออกพรรษานี้ ชาวพุทธจะไปร่วมทำบุญตักบาตรเทโวที่วัด ซึ่งในสมัยนั้นวัดส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ริมน้ำ ชาวบ้านจะใช้เรือเป็นพาหนะ เสร็จจากการร่วมทำบุญตักบาตรแล้ว ก็สนุกสนานด้วยการพายเรือแข่งกัน
ปัจจุบันการแข่งเรือดังกล่าวจัดแข่งขันทั้งหมด ๕ วัน กิจกรรมหลักคือ ขบวนแห่พระจากวัดต่างๆ ที่ได้รับการตกแต่งอย่างสวยงามและการแข่งเรือในแม่น้ำหลังสวน
*** งานแข่งขันเรือยาวประเพณีขึ้นโขนชิงธง ณ คลองหัววัง-พนังตัก ตำบลนาชะอัง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ***
จังหวัดชุมพร จัดงานแข่งขันเรือยาวประเพณี #ขึ้นโขนชิงธง ณ คลองหัววัง-พนังตัก ตำบลนาชะอัง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพรขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จ
พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ซึ่งในอดีตจังหวัดชุมพรประสบปัญหาอุทกภัยได้รับความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นมูลค่ามหาศาลทุกปีด้วยการจัดทำโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ (แก้มลิงธรรมชาติ) และขุดคลองหัววัง-พนังตัก เพื่อระบายน้ำลงสู่ทะเล ทำให้ชาวจังหวัดชุมพรรอดพ้นจากปัญหาอุทกภัยอย่างถาวร
 
-------------------------------------
ภาพการโกลนเรือ (ขวานปลี), การใช้กระแมะขุดไม้ จาก ArMoo www.ChumphonTour.com
ภาพการตีไฟป่า จาก พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณฝ่ายเงิน เสน่ห์น่านวันนี้
ภาพการยาชัน จาก www.youtube.com/@bannsuanhomdin.5407
ภาพประเพณีขึ้นโขนชิงธง สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดชุมพร , www.nairobroo.com/travel/lang-suan-boat-race/

(จำนวนผู้เข้าชม 3505 ครั้ง)