...

มีดแป๊ะกั๊ก

         มีดแป๊ะกั๊ก

         สมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศศตวรรษที่ ๒๕

         รับมาจากหมวดภูษามาลา แผนกพระราชพิธี สำนักพระราชวัง เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๒

         ปัจจุบันจัดแสดง ณ พระที่นั่งบูรพาภิมุข หมู่พระวิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

         มีดแป๊ะกั๊ก ลักษณะเป็นอาวุธยาว ส่วนใบมีดเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมปลายตัดตรง (หากไม่ใช้งานจะสวมปลอกมีดไว้) มีคมด้านเดียว อีกด้านเป็นสันหนา ด้ามจับเป็นไม้ปลายข้างหนึ่งงอขึ้นสำหรับเสียบกับกั่นมีด*ทะลุด้ามเพื่อความมั่นคง 

         “มีดแป๊ะกั๊ก” ตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ระบุว่า “มีดขนาดใหญ่ ใบมีดรูปแบนยาวประมาณ ๑ ศอก สันหนา ด้ามทำด้วยไม้ไผ่ยาวประมาณ ๓ ศอก ใช้เป็นอาวุธสำหรับทหารเดินเท้าในกองทัพสมัยโบราณ” การใช้งานมีดเล่มนี้จัดอยู่ในประเภทอาวุธฟัน เช่นเดียวกับ ดาบ ขวาน ง้าว และด้วยสัดส่วนที่ไม่ยาวมากนักจึงใช้เป็นอาวุธต่อสู้บนหลังม้าแบบประชิดตัว

         หลักฐานการใช้มีดแป๊ะกั๊กในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปรากฏอยู่บนภาพสลักระเบียงปราสาทนครวัด รูปขบวนทหารเดินแถว “เสียมกุก” พบทหารม้าถือมีดแป๊ะกั๊ก อย่างไรก็ตามในสมัยอยุธยาไม่ปรากฏการใช้มีดแป๊ะกั๊กในกองทหารม้า จากหลักฐานคำให้การชาวกรุงเก่าไม่ได้กล่าวถึงมีดแป๊ะกั๊กเป็นอาวุธบนหลังม้า** ส่วนหลักฐานการใช้เป็นอาวุธในราชการนั้น ปรากฏชัดเจนในพระราชพิธีสำคัญของราชสำนัก กองทหารที่เข้าร่วมมีบางหน่วยถืออาวุธเป็นมีดแป๊ะกั๊ก อาทิ ในคราวงานพระราชพิธีลงสรง ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ ปรากฏกองทหารที่อารักขาบริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ความตอนหนึ่งว่า “...เกณฑ์หัดอย่างฝรั่งขวาเสื้อดำ ถือพร้าแป๊ะกั๊ก ๓๐ ยืนฟากตะวันตกมุมวัดพระแก้ว...” และในขบวนแห่คราวงานพระราชพิธีตรียัมปวาย มีปรากฏถึงกองตำรวจถือพร้าแป๊ะกั๊ก จำนวน ๓๐ นาย ด้วยเช่นกัน

 

 

* กั่น หมายถึง ส่วนที่ถัดจากโคนอาวุธ เช่นหอก ดาบ หรือ เครื่องมือ เช่น สิ่ว สำหรับหยั่งลงไปในด้าม

**อาวุธที่ใช้บนหลังม้าของการทหารในสมัยอยุธยาระบุไว้ ได้แก่ ทวน ธนู หน้าไม้ หอกซัด ง้าว 

 

อ้างอิง

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันภาคที่ ๒๒. พระนคร: มหาดไทย, ๒๕๐๖. (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงเพิ่ม โชดึกราชเศรษฐี (เลาหเศรษฐี) ต.จ. ณ เมรวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๖).

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ.. พระราชพิธีสิบสองเดือน. กรุงเทพฯ: ไทควอลิตี้บุ๊คส์, ๒๕๖๐.

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๕๖.

สมชาย ณ นครพนม. “พร้าแป๊ะกั๊ก.” ศิลปากร ๕๖, ๕ (กันยายน-ตุลาคม ๒๕๕๖), ๑๑๐-๑๑๕.

 

(จำนวนผู้เข้าชม 1121 ครั้ง)


Messenger