กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน
ไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี เป็นการส่วนพระองค์
วันศุกร์ที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๑๗ น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของชาติ จัดตั้งขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๘ จัดแสดงโบราณวัตถุและโครงกระดูกมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งได้จากการดำเนินงานทางโบราณคดีบริเวณแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี อาคารหลังเดิมเป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ขนาด ๕๔ ตารางเมตร จัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นสำคัญพร้อมคำอธิบายประกอบ มีการจำลองหลุมขุดค้นและจัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์สมัยหินใหม่ เมื่อมีการศึกษาค้นคว้าทางโบราณคดีในจังหวัดกาญจนบุรีและพื้นที่ใกล้เคียงมากขึ้น กรมศิลปากรเล็งเห็นความสำคัญที่จะพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า ให้สอดคล้องกับบริบทการศึกษาโบราณคดีและประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน จึงมอบหมายให้สำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี ดำเนินโครงการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า ตามแผนพัฒนาระยะ ๕ ปี (พุทธศักราช ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔) เมื่อพุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้ก่อสร้างอาคารจัดแสดงหลังใหม่ จำนวน ๑ หลัง เพื่อจัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์บริเวณภูมิภาคตะวันตกของประเทศไทย ลักษณะอาคารเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม สีดินเทศ มีเจาะช่องหน้าต่างขนาดต่าง ๆ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากลักษณะของหลุมขุดค้นทางโบราณคดี รวมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ อาคารสำนักงาน และส่วนบริการนักท่องเที่ยวให้อำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้าชม เพื่อพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติให้ทันสมัยและตอบสนองความต้องการของประชาชนและสังคมได้อย่างเหมาะสม
ภายในอาคารจัดแสดงนิทรรศการ ซึ่งได้รับการปรับปรุงและออกแบบนิทรรศการถาวรใหม่ทั้งหมด โดยนำเทคโนโลยีร่วมสมัยมาเป็นสื่อจัดแสดง เพื่อกระตุ้นให้ผู้เข้าชมสนใจ เกิดการเรียนรู้และเข้าใจเนื้อหาของนิทรรศการมากยิ่งขึ้น แบ่งการจัดแสดงออกเป็น ๓ ชั้น ได้แก่
การจัดแสดงชั้นที่ ๑ นำเสนอวีดีทัศน์ “การค้นพบแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า” การค้นพบเครื่องมือหิน ๘ ชิ้น นำไปสู่การขุดค้นทางโบราณคดีอย่างเป็นทางการที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี ข้อมูลหลักฐานและองค์ความรู้เกี่ยวกับคนบ้านเก่าในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตลอดจนพัฒนาการของผู้คนในลุ่มน้ำแควน้อย – แควใหญ่ ที่สืบเนื่องมาจากสมัยหินเก่า สู่สมัยหินใหม่ และบ้านเก่าในปัจจุบัน
การจัดแสดงชั้นที่ ๒ จัดแสดงเรื่องวัฒนธรรมบ้านเก่า คนบ้านเก่า วิถีชีวิต เครื่องมือเครื่องใช้ในวัฒนธรรมบ้านเก่า เช่น เครื่องมือหินกะเทาะ หินขัด เครื่องมือกระดูกสัตว์ เครื่องประดับ ภาชนะดินเผา “หม้อสามขา” เอกลักษณ์ของวัฒนธรรมบ้านเก่า
การจัดแสดงชั้นที่ ๓ จัดแสดงนิทรรศการบ้านเก่า และภาคตะวันตกจากสมัยหินสู่สมัยโลหะ นำเสนอเรื่องราวของผู้คนในช่วงที่มีการใช้เครื่องมือโลหะ ทั้งสำริดและเหล็กในภูมิภาคตะวันตก จัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นสำคัญจากแหล่งโบราณคดีในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ศิลปะถ้ำ ซึ่งเป็นงานศิลปกรรมภาพเขียนสีบนผนังของผู้คนในยุคนั้น เช่น ภาพเขียนสีถ้ำตาด้วง เขาวังกุลา ถ้ำรูปเขาเขียว ถัดมาเป็นเรื่องราววัฒนธรรมโลงไม้ หลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นพิธีกรรมการฝังศพของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์
ปัจจุบันกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้รับการสนับสนุนจากจังหวัดกาญจนบุรี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ร่วมกันพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางโบราณคดีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาคตะวันตก ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ ก่อให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจ อันจะนำไปสู่การพัฒนาสังคมไทยให้ยั่งยืนและมั่นคงสืบไป
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี เปิดบริการทุกวันพุธ - อาทิตย์ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. (ปิดวันจันทร์ - อังคาร) ค่าธรรมเนียมเข้าชม ชาวไทย ๑๐ บาท ชาวต่างชาติ ๕๐ บาท
(จำนวนผู้เข้าชม 450 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน