ตามรอยครูดูโขน ละคร อยุธยา
องค์ความรู้ : สำนักการสังคีต
เรื่อง ตามรอยครูดูโขน ละคร อยุธยา
ในบรรดามหรสพของไทยที่มีอยู่มากมายหลายอย่าง “โขน” นับเป็นนาฏกรรมชั้นสูงและเก่าแก่ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ มีแบบแผนสืบมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เมื่อเกิดขึ้นเริ่มแรกเป็นการเล่นมหรสพกึ่งพิธีกรรม แล้วพัฒนาจนกลายมาเป็นการเล่นมหรสพที่นิยมตลอดมาจนถึงปัจจุบัน โดยหลักฐานทางวิชาการ “โขน” คือแหล่งรวมศิลปะที่ปรับปรุงมาจากการเล่นโบราณ ๓ ประเภท คือ หนังใหญ่ กระบี่กระบอง และชักนาคดึกดำบรรพ์ ในพระราชพิธีอินทราภิเษก
การแสดงหนังใหญ่ เป็นมหรสพเก่าแก่ที่เคยขึ้นชื่อลือชามีมาแต่สมัยกรุงสุโขทัย จากศิลาจารึกหลักที่ ๘ ในสมัยพระมหาธรรมราชา (ลิไท) ได้กล่าวถึงมหรสพสมโภชในงานเทศกาลไหว้พระพุทธบาทบนเขาสุมนกูฏ พ.ศ.๑๙๐๓ ความว่า
“มีระบำ (รำ) เต้นเล่นทุกฉัน..ด้วยเสียงอันสาธุการบูชา อีกด้วยดุริยพาทย์ พิณฆ้องกลอง เสียงดังสีพอันดินจักหล่มอันใส”
จากข้อความดังกล่าว จึงอาจสันนิษฐานได้ว่าการเต้นก็คือหนังใหญ่นั่นเอง หนังใหญ่นั้นจะแสดงโดยการเต้นและดำเนินเรื่องด้วยการพากย์ เจรจา โขนจึงได้รับอิทธิพลบางส่วนปรับปรุงมาจากหนังใหญ่ ดังที่ในหนังสือปุณโณวาทคำฉันท์ ของพระมหานาค วัดท่าทราย แต่งขึ้นในราว พ.ศ. ๒๒๙๔ ถึง ๒๓๐๑ เป็นระยะเวลา ๗ ปี ปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ได้กล่าวไว้ว่า
“มหรสพที่แสดงฉลองพระพุทธบาทในตอนกลางคืนว่ามีการเล่นหนังใหญ่อยู่ด้วย ”
เมื่อแสดงหนังใหญ่กันนาน ๆ เข้า ทั้งผู้ชมและผู้แสดงคงเกิดความเบื่อหน่าย สำหรับผู้ชมคงเบื่อในเรื่องตัวหนังเคลื่อนไหวอิริยาบถไม่ได้ ฉลุสลักเป็นรูปอย่างไรก็อยู่อย่างนั้น ส่วนผู้แสดงคงเบื่อหน่ายที่จะนำตัวหนังออกไปเชิด เพราะตัวหนังบางตัวมีขนาดใหญ่สูงถึง ๒ เมตร เช่น หนังเมือง หนังปราสาท จึงมีผู้คิดจะออกไปแสดงแทนตัวหนังแต่ไม่รู้ว่าจะแต่งตัวอย่างไร ขณะที่ในอยุธยาช่วงยุคสมัยนั้นมีการเล่นในพระราชพิธีอินทราภิเษกอย่างหนึ่ง คือ ชักนาคดึกดำบรรพ์ การแสดงแบบนี้ต้องใช้ผู้แสดงจำนวนมาก แต่งกายเป็นเทวดา ยักษ์ ลิง มีสุครีพ พาลี เป็นตัวเอก ผู้ที่คิดจะออกแสดงแทนหนังใหญ่ จึงเอาเครื่องแต่งกายการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์มาแต่ง เมื่อมีเครื่องแต่งกายแล้วก็ยึดเอาเรื่องรามเกียรติ์ที่ใช้แสดงหนังใหญ่มาเป็นเรื่องแสดง และใช้การดำเนินเรื่องด้วยการพากย์ เจรจา มีปี่พาทย์บรรเลงประกอบการแสดง ส่วนจอหนังหนังใหญ่ต่อมาโขนก็ได้ปรับปรุงนำเอามาใช้กับโขนเรียกว่า “โขนหน้าจอ”
ครั้งสมัยอยุธยาก่อนถึงรัชสมัยพระเจ้าบรมโกศ พระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งในสมัยอยุธยาตอนปลาย ละครในจะเล่นเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์กับเรื่องอุณรุทเพียง ๒ เรื่องเท่านั้น ยังไม่ปรากฏว่าเล่นเรื่องอิเหนา เพราะเรื่องรามเกียรติ์กับเรื่องอุณรุทเป็นพงศาวดารอินเดียที่ชนชาวอินเดีย มีความเชื่อและถือเป็นคติมาแต่โบราณ ให้ความนับถือในลัทธิไสยศาสตร์ว่าพระนารายณ์เสด็จอวตาร ลงมาบำรุงมนุษย์โลกให้เกิดความสุข จึงยึดถือว่าการเล่นหรือแสดงเรื่องตำนาน เช่น เรื่องรามเกียรติ์หรือเรื่องมหาภารตะ เป็นการเฉลิมพระเกียรติยศพระเป็นเจ้า ก่อให้เกิดสวัสดิมงคลแก่ผู้เล่น และผู้ดู
ในสมัยโบราณคงเป็นเพราะพวกพราหมณ์ชาวอินเดีย ที่เป็นครูบาอาจารย์ในด้านพิธีกรรม ซึ่งเดินทางเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยา สอนให้คนไทยเล่นแสดงตำนาน เช่น เล่นเรื่องรามเกียรติ์ หรือเรื่องกฤษณาวตาร คือ เรื่องอุณรุท จึงได้เกิดมีประเพณีการเล่นโขนเกิดขึ้น ซึ่งเรื่องตำนานการเล่นโขนของไทย มีเค้ามูลอยู่ในกฎมนเทียรบาลในตอนตำราพระราชพิธีอินทราภิเษก (อินทราภิเษก หมายถึง การสถาปนาขึ้นเป็นพระราชา โดยลักษณะ ๓ ประการ ตามความเชื่อคติโบราณว่า ๑.พระอินทร์นำเครื่องราชกกุธภัณฑ์มาถวาย ๒.เสี่ยงเอาราชรถมาเกยที่ฝ่าพระบาท ๓.เอาฉัตรทิพย์มากาง) โดยมีเนื้อความบันทึกไว้กระบวนเล่นไว้ว่า
“ให้ปลูกสร้างเขาพระสุเมรุสูงเส้น ๑ กับ ๕ วา ที่ท้องสนามหลวงและที่เชิงเขาทำเป็นรูปนาค ๗ เศียรเกี้ยวพันเขาพระสุเมรุ แล้วให้ “เลก” (หมายถึงกรม) ตำรวจแต่งเป็นรูปอสูร ๑๐๐ ตน มหาดเล็กเป็นเทวดา ๑๐๐ องค์ และเป็นพญาวานร อาทิ พาลี สุครีพ ท้าวมหาชมพู และไพร่พล บริวารอีก ๑๐๐ ตัว รวมวานรทั้งหมด ๑๐๓ ตัว โดยให้ทำการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ ให้อสูรเป็นฝ่ายชักด้านหัว ส่วนเทวดาชักหางและวานรชักปลายหาง ซึ่งการพระราชพิธีอินทราภิเษกจะมีกำหนดชักนาคดึกดำบรรพ์ในวันที่ ๕ ของพระราชพิธี”
ลักษณะที่ทำการชักนาคดึกดำบรรพ์ ในพระราชพิธีอินทราภิเษกดังที่กล่าวมานี้ คือการแสดงตำนานในไสยศาสตร์เพื่อความสิริสวัสดิมงคล อันมีมูลเหตุอันเดียวกันกับที่เล่นโขนเรื่องรามเกียรติ์ หลักฐานครั้งแรกที่เล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ เกิดขึ้นหลังจากตั้งกรุงศรีอยุธยาได้เพียง ๘ ปี ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ครั้งที่ ๒ มีหลักฐานในหนังสือพระราชพงศาวดาร ได้กล่าวถึงการเล่นดึกดำบรรพ์หรือชักนาคดึกดำบรรพ์ของกษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาบางพระองค์ไว้ว่า ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดี ๒ ว่าเมื่อศักราช ๘๓๘ ปีวอกอัฐศก (พ.ศ. ๒๐๑๗) พระองค์ประพฤติการเบญจาเพส จะประกอบพระราชพิธีอินทราภิเษก จึงทรงให้เล่นดึกดำบรรพ์ อีกครั้งในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงประกอบพระราชพิธีลบศักราชเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๘๑ ทรงเอาแบบอย่างมาทำอีกครั้งหนึ่ง
ตามที่กล่าวมานี้บางทีที่เกิดตั้งกรมโขนขึ้น อาจจะมาแต่การเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ ในพระราชพิธีอินทราภิเษกก็ได้และโดยทำนองจะมีพระราชพิธีอื่น ๆ อันมีการเล่นการแสดงตำนานซึ่งมี เกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ จึงเป็นเหตุให้มีการฝึกฝัดโขนหลวงขึ้นไว้สำหรับเล่นในพระราชพิธี โดยเอามหาดเล็กหลวงมาหัดโขนเป็นแบบแผน ซึ่งมีปรากฏข้อมูลอยู่ในตำราอินทราภิเษกตามที่กล่าวมาแล้ว เหตุเพราะ พวกมหาดเล็กหลวงเป็นลูกผู้ดี ฉลาดเฉลียวฝึกหัดเข้าใจง่าย การฝึกฝัดโขนหากใครได้รับเลือกก็จะมีความยินดี ถือว่าได้รับการยกย่องอย่างหนึ่ง จึงเป็นประเพณีสืบมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ที่พวกโขนหลวงนับว่าอยู่ในหมู่พวกผู้ดีที่เป็นมหาดเล็ก สมัยนั้นจึงมีบุตรหลานข้าราชการผู้ใหญ่มากมายไปฝึกโขน
โขนสมัยกรุงศรีอยุธยาจึงเป็นการเล่นสำหรับพระราชพิธีที่สำคัญ เช่น พิธีอินทราภิเษกหรือราชาภิเษก จึงเป็นข้อห้ามมิให้ผู้อื่นเล่นแต่ปรากฏเป็นความนิยมในชั้นหลังต่อมาว่า การฝึกหัดโขนนั้นทำให้ชายหนุ่มที่ได้รับการฝึกหัดแคล่วคล่องว่องไวในกระบวนการรบพุ่ง เป็นประโยชน์ไปจนถึงการรบสู้ข้าศึก จึงโปรดพระราชทานอนุญาตให้เจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ ตลอดจนผู้ว่าราชการเมืองหัดโขนได้โดยไม่ห้ามปรามเหมือนเมื่อแรก ด้วยเห็นเป็นประโยชน์แก่ราชการแผ่นดิน ดังนั้นเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แต่ก่อนใครมีสมพลบ่าวไพร่มาก จึงมักนิยมหัดโขนขึ้นเพื่อสำหรับประดับเกียรติยศ ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่า เมื่อมีการนำทหารมหาดเล็กและตำรวจหลวง เข้ามาฝึกโขน ท่วงท่าการรบในโขนน่าจะเกิดขึ้นจากท่าอาวุธโบราณที่ใช้เล่นกระบี่กระบอง ผสมผสานกับท่าขึ้นลอยที่นำรูปแบบมาจากหนังใหญ่ เมื่อโขนมีขึ้นแพร่หลายการเล่นโขนก็เล่นไปจนในการมหรสพซึ่งเป็นการใหญ่ เช่น การฉลองพระอาราม ตลอดจนนิยมเล่นในงานศพผู้มีบรรดาศักดิ์สูงมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา
“ให้ปลูกสร้างเขาพระสุเมรุสูงเส้น ๑ กับ ๕ วา ที่ท้องสนามหลวงและที่เชิงเขาทำเป็นรูปนาค ๗ เศียรเกี้ยวพันเขาพระสุเมรุ แล้วให้ “เลก” (หมายถึงกรม) ตำรวจแต่งเป็นรูปอสูร ๑๐๐ ตน มหาดเล็กเป็นเทวดา ๑๐๐ องค์ และเป็นพญาวานร อาทิ พาลี สุครีพ ท้าวมหาชมพู และไพร่พล บริวารอีก ๑๐๐ ตัว รวมวานรทั้งหมด ๑๐๓ ตัว โดยให้ทำการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ ให้อสูรเป็นฝ่ายชักด้านหัว ส่วนเทวดาชักหางและวานรชักปลายหาง ซึ่งการพระราชพิธีอินทราภิเษกจะมีกำหนดชักนาคดึกดำบรรพ์ในวันที่ ๕ ของพระราชพิธี”
ลักษณะที่ทำการชักนาคดึกดำบรรพ์ ในพระราชพิธีอินทราภิเษกดังที่กล่าวมานี้ คือการแสดงตำนานในไสยศาสตร์เพื่อความสิริสวัสดิมงคล อันมีมูลเหตุอันเดียวกันกับที่เล่นโขนเรื่องรามเกียรติ์ หลักฐานครั้งแรกที่เล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ เกิดขึ้นหลังจากตั้งกรุงศรีอยุธยาได้เพียง ๘ ปี ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ครั้งที่ ๒ มีหลักฐานในหนังสือพระราชพงศาวดาร ได้กล่าวถึงการเล่นดึกดำบรรพ์หรือชักนาคดึกดำบรรพ์ของกษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาบางพระองค์ไว้ว่า ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดี ๒ ว่าเมื่อศักราช ๘๓๘ ปีวอกอัฐศก (พ.ศ. ๒๐๑๗) พระองค์ประพฤติการเบญจาเพส จะประกอบพระราชพิธีอินทราภิเษก จึงทรงให้เล่นดึกดำบรรพ์ อีกครั้งในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงประกอบพระราชพิธีลบศักราชเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๘๑ ทรงเอาแบบอย่างมาทำอีกครั้งหนึ่ง
ตามที่กล่าวมานี้บางทีที่เกิดตั้งกรมโขนขึ้น อาจจะมาแต่การเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ ในพระราชพิธีอินทราภิเษกก็ได้และโดยทำนองจะมีพระราชพิธีอื่น ๆ อันมีการเล่นการแสดงตำนานซึ่งมี เกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ จึงเป็นเหตุให้มีการฝึกฝัดโขนหลวงขึ้นไว้สำหรับเล่นในพระราชพิธี โดยเอามหาดเล็กหลวงมาหัดโขนเป็นแบบแผน ซึ่งมีปรากฏข้อมูลอยู่ในตำราอินทราภิเษกตามที่กล่าวมาแล้ว เหตุเพราะ พวกมหาดเล็กหลวงเป็นลูกผู้ดี ฉลาดเฉลียวฝึกหัดเข้าใจง่าย การฝึกฝัดโขนหากใครได้รับเลือกก็จะมีความยินดี ถือว่าได้รับการยกย่องอย่างหนึ่ง จึงเป็นประเพณีสืบมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ที่พวกโขนหลวงนับว่าอยู่ในหมู่พวกผู้ดีที่เป็นมหาดเล็ก สมัยนั้นจึงมีบุตรหลานข้าราชการผู้ใหญ่มากมายไปฝึกโขน
โขนสมัยกรุงศรีอยุธยาจึงเป็นการเล่นสำหรับพระราชพิธีที่สำคัญ เช่น พิธีอินทราภิเษกหรือราชาภิเษก จึงเป็นข้อห้ามมิให้ผู้อื่นเล่นแต่ปรากฏเป็นความนิยมในชั้นหลังต่อมาว่า การฝึกหัดโขนนั้นทำให้ชายหนุ่มที่ได้รับการฝึกหัดแคล่วคล่องว่องไวในกระบวนการรบพุ่ง เป็นประโยชน์ไปจนถึงการรบสู้ข้าศึก จึงโปรดพระราชทานอนุญาตให้เจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ ตลอดจนผู้ว่าราชการเมืองหัดโขนได้โดยไม่ห้ามปรามเหมือนเมื่อแรก ด้วยเห็นเป็นประโยชน์แก่ราชการแผ่นดิน ดังนั้นเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แต่ก่อนใครมีสมพลบ่าวไพร่มาก จึงมักนิยมหัดโขนขึ้นเพื่อสำหรับประดับเกียรติยศ ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่า เมื่อมีการนำทหารมหาดเล็กและตำรวจหลวง เข้ามาฝึกโขน ท่วงท่าการรบในโขนน่าจะเกิดขึ้นจากท่าอาวุธโบราณที่ใช้เล่นกระบี่กระบอง ผสมผสานกับท่าขึ้นลอยที่นำรูปแบบมาจากหนังใหญ่ เมื่อโขนมีขึ้นแพร่หลายการเล่นโขนก็เล่นไปจนในการมหรสพซึ่งเป็นการใหญ่ เช่น การฉลองพระอาราม ตลอดจนนิยมเล่นในงานศพผู้มีบรรดาศักดิ์สูงมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา
โขนและละครสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นการเล่นหรือการแสดงของผู้ชาย แต่การเล่นโขนและละครสมัยโบราณนั้นต่างกันมาก เพราะโขนเป็นการเล่นของผู้ดีมีบรรดาศักดิ์ เล่นในพระราชพิธีตามที่กล่าวมาแล้ว ส่วนละครเป็นการเล่นของราษฎรที่รับจ้างหาเลี้ยงชีพ ส่วนผู้หญิงก่อนที่จะมาหัดละครในนั้น เล่นเพียงแค่เป็นนางรำหรือนางระบำ หาได้เล่นเป็นเรื่องเหมือนอย่างโขนหรือละครไม่
ในด้านการแสดงโขนจะเริ่มมีการแสดงมาแต่ยุคสมัยใดในเมืองไทย ไม่ปรากฏหลักฐานไว้เป็นที่แน่ชัด แต่เริ่มมีการกล่าวถึงหลักฐานการแสดงนาฏกรรมประเภทนี้ไว้ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชกษัตริย์พระองค์ที่ ๒๘ แห่งกรุงศรีอยุธยา โดยบันทึกของ มองสิเออ เดอ ลา ลูแบร์ ราชทูตชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาเมืองไทยเพื่อเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาขณะนั้น ได้จดบันทึกเล่าเรื่องว่าได้ดูทั้งโขน ละคร และระบำ โดยกล่าวว่าโขนและละครนั้นผู้ชายเล่น จึงน่าเชื่อว่าในสมัยนั้นละครผู้หญิงยังไม่มีเล่น สำหรับการแสดงโขนมองสิเออ เดอ ลา ลูแบร์ ได้บันทึกเรื่องราวกล่าวไว้ว่า
ในด้านการแสดงโขนจะเริ่มมีการแสดงมาแต่ยุคสมัยใดในเมืองไทย ไม่ปรากฏหลักฐานไว้เป็นที่แน่ชัด แต่เริ่มมีการกล่าวถึงหลักฐานการแสดงนาฏกรรมประเภทนี้ไว้ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชกษัตริย์พระองค์ที่ ๒๘ แห่งกรุงศรีอยุธยา โดยบันทึกของ มองสิเออ เดอ ลา ลูแบร์ ราชทูตชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาเมืองไทยเพื่อเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาขณะนั้น ได้จดบันทึกเล่าเรื่องว่าได้ดูทั้งโขน ละคร และระบำ โดยกล่าวว่าโขนและละครนั้นผู้ชายเล่น จึงน่าเชื่อว่าในสมัยนั้นละครผู้หญิงยังไม่มีเล่น สำหรับการแสดงโขนมองสิเออ เดอ ลา ลูแบร์ ได้บันทึกเรื่องราวกล่าวไว้ว่า
“เป็นการร่ายรำเข้า ๆ ออก ๆ หลายคำรบตามจังหวะซอและเครื่องดนตรีอย่างอื่น ผู้แสดงสวมหน้ากาก (หัวโขน) และถืออาวุธ ฯ ”
เหตุนี้จึงเชื่อถือได้ว่าโขนนับเป็นมหรสพอย่างหนึ่งของไท ที่น่าจะมีการแสดงแพร่หลายมาก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยนำวิธีการแสดงและเนื้อเรื่องมาจากหนังใหญ่อันเป็นต้นกำเนิดของโขนอย่างหนึ่ง ซึ่งมีการแสดงมาก่อนและเล่นเรื่องรามเกียรติ์เช่นกัน แล้วนำเครื่องแต่งกายและศิราภรณ์มาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาโขนจะไม่นิยมแสดงเพียงเรื่องรามเกียรติ์เท่านั้น แต่ยังมีเรื่องอุณรุท อีกเรื่องหนึ่งที่แสดง แต่ต่อมาเมื่อมีละครในหรือละครหลวงผู้หญิงเกิดขึ้น จึงเลือกเอาเรื่องโขนบางตอนที่เหมาะแก่กระบวนร่ายรำ เช่น ในเรื่องอุณรุทหรือเรื่องกฤษณาวตาร มาคิดปรุงกับกระบวนฝึกซ้อมละครให้พวกนางรำของหลวงเล่น ครั้นเล่นก็เห็นว่าดีจึงให้มีละครผู้หญิงของหลวงขึ้น และในชั้นแรกจะเล่นแต่เรื่องอุณรุท บางทีจะเป็นเพราะเหตุที่ละครในหรือละครหลวงผู้หญิงได้นำเรื่องอุณรุทไปเล่นหรือแสดงนั่นเอง โขนจึงไม่ได้เล่น เรื่อง อุณรุทหรือกฤษณาวตาร จะนิยมเล่นแต่เรื่องรามเกียรติ์เท่านั้น ต่อมาเมื่ออิเหนาเกิดขึ้นอีกเรื่องหนึ่งจึงนำมาเล่นเป็นละครในอีกเรื่องหนึ่ง
เหตุนี้จึงเชื่อถือได้ว่าโขนนับเป็นมหรสพอย่างหนึ่งของไท ที่น่าจะมีการแสดงแพร่หลายมาก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยนำวิธีการแสดงและเนื้อเรื่องมาจากหนังใหญ่อันเป็นต้นกำเนิดของโขนอย่างหนึ่ง ซึ่งมีการแสดงมาก่อนและเล่นเรื่องรามเกียรติ์เช่นกัน แล้วนำเครื่องแต่งกายและศิราภรณ์มาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาโขนจะไม่นิยมแสดงเพียงเรื่องรามเกียรติ์เท่านั้น แต่ยังมีเรื่องอุณรุท อีกเรื่องหนึ่งที่แสดง แต่ต่อมาเมื่อมีละครในหรือละครหลวงผู้หญิงเกิดขึ้น จึงเลือกเอาเรื่องโขนบางตอนที่เหมาะแก่กระบวนร่ายรำ เช่น ในเรื่องอุณรุทหรือเรื่องกฤษณาวตาร มาคิดปรุงกับกระบวนฝึกซ้อมละครให้พวกนางรำของหลวงเล่น ครั้นเล่นก็เห็นว่าดีจึงให้มีละครผู้หญิงของหลวงขึ้น และในชั้นแรกจะเล่นแต่เรื่องอุณรุท บางทีจะเป็นเพราะเหตุที่ละครในหรือละครหลวงผู้หญิงได้นำเรื่องอุณรุทไปเล่นหรือแสดงนั่นเอง โขนจึงไม่ได้เล่น เรื่อง อุณรุทหรือกฤษณาวตาร จะนิยมเล่นแต่เรื่องรามเกียรติ์เท่านั้น ต่อมาเมื่ออิเหนาเกิดขึ้นอีกเรื่องหนึ่งจึงนำมาเล่นเป็นละครในอีกเรื่องหนึ่ง
---------------------------------------
แหล่งข้ออ้างอิง
- เด่นดวง พุ่มศิริ. ศิลปะการแสดงของไทย. หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพรองศาสตราจารย์ เด่นดวง พุ่มศิริ. กรุงเทพมหานคร : กองโรงพิมพ์กรมสารบรรณทหารอากาศ, ๒๕๒๘.
- ธนิต อยู่โพธิ์. โขน. พระนครนคร : โรงพิมพ์ศิวพร, ๒๕๑๑.
- สุรพล วิรุฬห์รักษ์. วิวัฒนาการนาฏยศิลป์ไทยในกรุงรัตนโกลินทร์. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ แห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๗.
- เสรี หวังในธรรม. ละครผู้ชาย. นาฎศิลป์และดนตรีไทย. ศูนย์สังคีตศิลป์ครั้งที่ ๕๔, ๒๕๒๓.
---------------------------------------------
เรียบเรียงโดย นายจรัญ พูลลาภ นักวิชาการละครและดนตรีชำนาญการพิเศษ สำนักการสังคีต
(จำนวนผู้เข้าชม 4662 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน