...

เล่าเรื่องเมืองพิจิตร จากรายงานตรวจราชการ (ตอนจบ)
-- องค์ความรู้จากเอกสารจดหมายเหตุ : เล่าเรื่องเมืองพิจิตร จากรายงานตรวจราชการ (ตอนจบ) --
 หลังจากที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จฯ ถึงเมืองพิจิตร และได้ทรงตรวจตราสภาพบ้านเมืองของเมืองพิจิตรแล้ว ลำดับต่อไปคือการเสด็จฯ ตรวจราชการ ณ สถานที่ราชการสำคัญของเมืองพิจิตร ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
------------------------------------------------------------------------------
แผ่นไม้ปริศนา
 วันที่ 31 ตุลาคม ร.ศ. 117 กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จฯ ไปทรงตรวจคุกเมืองพิจิตร ตามด้วยโรงเรียนหลวงสำหรับเมือง จากนั้นจึงเสด็จฯ ไปยังที่ว่าการเมืองซึ่งตั้งอยู่ที่ศาลากลางหลังเดิม ณ ที่แห่งนี้ทรงพบแผ่นไม้แกะสลักรูปวงกลมกว้าง 14 นิ้ว 3 แผ่น แผ่นแรกสลักภาพพระมหามงกุฎมีฉัตร แผ่นที่สองสลักภาพช้างในวงจักร และแผ่นที่สามสลักภาพราชสีห์จำลองจากตราพระราชสีห์ใหญ่ ทั้งสามแผ่นติดตั้งไว้ที่จั่วข้างในที่ว่าการเมือง ทรงเล่าว่าเมื่อครั้งเสด็จฯ เมืองพรหมก็ทรงพบตราพระราชสีห์ในลักษณะนี้ติดไว้ที่ศาลากลางหลังเดิม พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตรทูลเล่าว่า ได้ทราบจากคำบอกเล่าว่า ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้มีการพระราชทานเงินเพื่อสร้างศาลากลางเมือง เมืองละ 10 ชั่ง ตราบนแผ่นไม้แกะสลักเหล่านี้จึงมาพร้อมกับการสร้างศาลากลางในคราวนั้น ทรงสันนิษฐานถึงความหมายของตราแกะสลักว่าแต่ละตราว่า ตราพระมงกุฎหมายถึงพระเจ้าแผ่นดิน ตราช้างหมายถึงกรุงสยาม ตราพระราชสีห์หมายถึงกระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้ยังได้รับสั่งให้แกะตราออกจากหน้าจั่วแล้วนำไปติดไว้ภายในศาลากลาง เพราะหากเกิดเหตุเพลิงไหม้ก็จะได้ย้ายหนีออกไปได้ง่าย
------------------------------------------------------------------------------
ปล่อยญวนพ้นคุก
 หลังจากทรงตรวจกิจการของที่ว่าการเมืองแล้ว ได้ทรงตรวจกิจการของศาลซึ่งตั้งอยู่ในอาคารเดียวกับที่ว่าการเมือง ศาลเมืองพิจิตรนี้มีข้าหลวงพิเศษเป็นผู้พิจารณาตัดสินคดี โดยในขณะนั้นมีคดีค้างในอยู่ศาลรอการพิจารณาจำนวน 8 เรื่อง แม้ว่าการดำเนินงานของศาลจะมีคดีที่ค้างอยู่ไม่มาก แต่กรมหมื่นดำรงราชานุภาพทรงตั้งข้อสังเกตว่า การตัดสินคดีของข้าหลวงพิเศษยังสู้ศาลเมืองกรุงเก่าไม่ได้ ตัวอย่างเช่น กรณีคดีของญวนเข้ารีตชื่อสำอาง ซึ่งกระทำผิดในข้อหาฆ่าหมูเซ่นเจ้าช่วงเทศกาลตรุษจีนโดยไม่ขออนุญาตต่อเจ้าภาษีหมู โดยข้าหลวงพิเศษตัดสินปรับญวนสำอางเป็นเงิน 90 บาท ญวนสำอางไม่สามารถจ่ายได้จึงต้องถูกขังเพื่อเร่งเงินพินัย ทรงเห็นว่าเงินค่าปรับ 90 บาทนั้น “แรงเหลือเกินนัก” ประกอบกับการที่เจ้าภาษีหมูไม่ติดใจเอาเงินสินไหม และญวนสำอางเองก็ติดคุกมาร่วมเดือนแล้ว จึงมีรับสั่งให้ปล่อยญวนสำอางพ้นโทษไป อย่างไรก็ตาม ทรงเห็นว่า แม้จะมีตัวอย่างจากคดีญวนสำอาง ก็ยังไม่อาจที่จะยืนยันได้ว่าข้าหลวงพิเศษตัดสินบกพร่องจริง เพราะไม่ได้ดูการพิจารณาคดีจริงๆ ว่าทำกันอย่างไร
------------------------------------------------------------------------------
พระดำริต่อเมืองพิจิตร
 จากที่ว่าการเมือง เสด็จฯ ไปตรวจบริเวณที่จะทำตลาดใหม่ทางตอนเหนือของเมือง จากนั้นไปตรวจที่ว่าการอำเภอเมือง แล้วจึงเสด็จฯ ลงเรือออกเดินทางจากเมืองพิจิตรเวลา 3 โมงเช้า
.
 ในตอนท้ายของรายงานตรวจราชการเมืองพิจิตร กรมหมื่นดำรงราชานุภาพทรงมีพระดำริว่า เมืองพิจิตรนี้มีความเจริญรุ่งเรืองในทุกๆ ด้าน ดีกว่าเมื่อครั้งเสด็จฯ มาตรวจราชการเมื่อ ร.ศ. 111 หลายเท่า เนื่องจากในครั้งนั้นเมืองพิจิตรยังประสบปัญหาอย่างเช่นโจรผู้ร้ายชุกชุม และปัญหาที่ราษฎรร้องทุกข์ว่าได้รับความเดือดร้อนในการถูกเกณฑ์ไปทำงานต่างๆ ของทางราชการ ซึ่งได้รับการแก้ไขจนดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ทั้งนี้ ทรงเห็นว่าการยกย่องเมืองพิจิตรเช่นนี้ หากเป็นคนที่ไม่รู้เห็นปัญหามาก่อน ก็จะหัวเราะเยาะว่าเชิดชูกันเกินไป เพราะขณะนั้นเมืองพิจิตรยังคงเป็นที่ลุ่มเต็มไปด้วยป่าพง ทำให้มียุงชุมมาก หากใครแปลกหน้าขึ้นมาถูกยุงกัดก็จะพาลเกลียดชังเมืองพิจิตรไปได้ง่ายๆ
.
ผู้เขียน: นายธัชพงศ์ พัตรสงวน (นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา)
เอกสารอ้างอิง:
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงมหาดไทย. ร.5 ม 2.14/82 เรื่อง รายงานกรมหมื่นดำรงฯ ตรวจราชการ เมืองพิจิตร เมืองพิษณุโลก [ 12 ต.ค. – 26 พ.ย. 117 ].
#จดหมายเหตุ #องค์ความรู้จากจากจดหมายเหตุ #หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯพะเยา #เอกสารจดหมายเหตุ









(จำนวนผู้เข้าชม 356 ครั้ง)


Messenger